คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 พ้นจากการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ขณะที่มีอายุ 56 ปีเศษ มีอายุงาน 18 ปีเศษ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทนายจ้าง จึงถือเป็นการเกษียณอายุตามข้อตกลงแล้ว โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยชีพ โดยขณะที่เกษียณอายุโจทก์มีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป แม้โจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 และพ้นจากการเป็นพนักงานด้วยการเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ซึ่งโจทก์ยังเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 5 ปี แต่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยนยน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานกับนายจ้างก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงเข้าหลักเกณฑ์สามประการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวีธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80) ข้อ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานประจำของบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงบริษัทดังกล่าวขอเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทที่กำหนดให้พนักงานของบริษัทเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ เมื่อพนักงานมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์และมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับ ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้อนุมัติตามคำขอของโจทก์ให้มีผลในการเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 จำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 โดยให้โจทก์ชำระภาษีที่ยังชำระขาดจำนวน 103,056.13 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงเดือนมกราคม 2544 จำนวน 52,558.16 บาท รวมเป็นเงิน 155,614 บาท เนื่องจากโจทก์มิได้นำเงินได้จากการออกงานมารวมคำนวณ และเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เข้าเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตายเป็นการออกโดยลาออกก่อนเกษียณ โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มิได้ลาออกจากงานแต่เป็นการออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จึงอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ได้รับแจ้งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เพราะการประเมินของเจ้าพนักงานผู้ประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์เห็นว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายกายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 ถูกต้องครบถ้วนทุกประการแล้ว กล่าวคือ ตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 รายการที่หนึ่งเป็นเงินได้จากการทำงานสี่เดือนสุดท้าย เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินชดเชยพิเศษเนื่องจากการขอเกษียณอายุ ซึ่งโจทก์ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จึงไม่มีภาษีที่ชำระขาดและเงินเพิ่มตามที่จำเลยแจ้งการประเมิน รายการที่สองเป็นเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งโจทก์ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จึงไม่มีภาษีที่จะชำระขาดและเงินเพิ่มตามที่จำเลยแจ้งการประเมิน รายการที่สองนี้เป็นเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งโจทก์ถูกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หักภาษี ณ ที่จ่ายไปจำนวน 134,662.69 บาท โดยที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีจากการเกษียณอายุของโจทก์ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย เพราะขณะเกษียณอายุโจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ และโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยโจทก์มีระยะเวลาทำงานกับบริษัทมานานถึง 18 ปีเศษ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ถูกหักภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์ และรายการที่สามเป็นเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียนเป็นจำนวน 15,347.98 บาท และจำนวน 113,490.50 บาท นอกจากนี้ยังมีรายการที่โจทก์ขอเครดิตภาษีจำนวน 52,083.27 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่โจทก์ขอคืนจำนวน 186,745.96 บาท ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานสรรพากรลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีภาษีที่ต้องคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 เลขที่ 005300/0/107287 ลงวันที่ 16 มกราคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.4)/37/2545 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2545 โดยไม่นำเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 2,022,626.87 บาท รวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 10,241.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนภาษีอากรดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้…
(17) เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง” ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 บัญญัติว่า “ให้กำหนดเงินได้ต่อไปนี้เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร… (36) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”
อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80) กำหนดไว้ความว่า “ข้อ 1 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดังนี้
(1) กรณีเกษียณ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ
(ก) เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่
น้อยกว่า 5 ปี หรือ
(ข) เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี” เห็นว่าเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ ประการแรกเงินได้นั้นลูกจ้างต้องได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ ประการที่สอง ลูกจ้างมีอายุขณะเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ประการที่สาม ลูกจ้างเข้าไปเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยนยน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้แก่นายจ้างก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี คดีนี้โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากออกจากงานกรณีเกษียณอายุก่อนกำหนด ปัญหาว่า การขอเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้นเป็นการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ประการแรกหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คำนิยามศัพท์คำว่า เกษียณอายุไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ สิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือการทำงาน การครบหรือสิ้นกำหนดการทำงานจึงหมายถึงการที่นายจ้างให้พนักงานลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากสูงอายุตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย คดีนี้ บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ที่โจทก์ทำงานอยู่มีคู่มือพนักงานอันเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุในข้อ 12.6 เกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานไว้ 2 กรณี กรณีแรก พนักงานจะเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีที่สองบริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ โดยมีเงื่อนไขสามประการ คือ ประการแรก บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือ ประการที่สอง พนักงานที่ขอเกษียณอายุต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และประการที่สาม พนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี โจทก์ได้ทำหนังสือขอเกษียณอายุและบริษัทได้อนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนดตามเอกสารหมาย ล.1 ล.2 และ ล.3 ถือได้ว่าโจทก์กับบริษัทมีข้อตกลงในการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นหนังสือ และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสุชาลา เทพบุตร รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ว่า โจทก์เข้าทำงานที่บริษัทเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 พ้นจากการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ขณะที่โจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ มีอายุงาน 18 ปีเศษ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสามประการตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย จ.1 จึงถือเป็นการเกษียณอายุตามข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่โจทก์เกษียณอายุ โจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ ซึ่งมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป แม้โจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 และโจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ด้วยการเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ซึ่งขณะที่โจทก์เกษียณอายุโจทก์ยังเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 5 ปี แต่โจทก์ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์สามประการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์และเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรร์ 1,000 บาท แทนโจทก์

Share