แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นจะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินก็ตาม แต่เหตุที่ไม่มีการหักเงินจากเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เนื่องจากนาย ว. ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขณะนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาที่จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้และค้ำประกัน ไม่ยอมดำเนินการ เพราะนาย ว. ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังป่วยอยู่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันแสดงว่าเหตุที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ใช้สิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจะพึงได้รับ กรณีไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 876,035.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 750,585.05 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
ระหว่างพิจารณาก่อนยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางบุญจันทร์จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 876,035.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 750,585.05 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีเพียงประการเดียวว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่จำเลยทั้งสามถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาในทำนองว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทันทีที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงิน แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 3 ปี จึงหักเงินเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่จำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่น จะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินดังที่จำเลยทั้งสามฎีกามาก็ตาม แต่สำหรับคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายอนุโลม โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เหตุที่ไม่มีการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เนื่องจากนายวีระพลซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขณะนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาขุขันธ์ ที่จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้และค้ำประกัน ไม่ยอมดำเนินการเพราะนายวีระพลไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังป่วยอยู่กระทบกระเทือนทางจิตใจจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเหตุที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินได้นั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ใช้สิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจะพึงได้รับ กรณีไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.