แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีที่จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 67 กำหนดโทษไว้นั้น จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 ต่อไปภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) ไปแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดว่า หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญา คงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับเป็นการลงโทษโดยมิชอบ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31, 40 (2) (3), 41, 42, 65, 66 ทวิ, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขอให้ศาลปรับจำเลยเป็นรายวันฐานก่อสร้างอาคารผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2546 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 วันที่ 14 ตุลาคม 2546 และวันที่ 16 ธันวาคม 2546 จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 40 (2) (3), 41, 42, 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท กับปรับจำเลยอีกวันละ 100 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 รวม 79 วัน เป็นเงินจำนวน 7,900 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงจำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท กับปรับจำเลยอีกวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 นับถึงวันฟ้องรวม 303 วัน เป็นเงินจำนวน 90,900 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้อง จำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท กับปรับจำเลยอีกวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 รวม 31 วัน เป็นเงินจำนวน 9,300 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลง จำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท กับปรับจำเลยอีกวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2546 นับถึงวันฟ้องรวม 350 วัน เป็นเงินจำนวน 105,000 บาท รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 80,000 บาท กับปรับรายวันรวม 4 กระทง นับถึงวันฟ้องเป็นค่าปรับ 213,100 บาท รวมเป็นค่าปรับ 293,100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 146,550 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้ปรับจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นรายวันอีกวันละ 150 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลง และให้ปรับจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นรายวันอีกวันละ 150 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นะระยเวลา 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่มาตรา 67 กำหนดโทษไว้นั้น จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือ มาตรา 42 ต่อไป ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 41 (1) ไปแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดว่าหากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญา คงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนอาคารภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ เป็นการลงโทษโดยมิชอบ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดอื่นเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หรือเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมแยกออกจากกัน คือ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ควบคุมอาคารได้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2), 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งคำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดนั้นเป็นที่เห็นได้ชัดว่าความผิดทั้งสามกระทงดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยใน 3 กระทง ดังกล่าว นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ซึ่งเมื่อรวมโทษในความผิดที่เหลือหลังลดโทษแล้ว คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 131,900 บาท กับปรับรายวันนับถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์