แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้พิมพ์และกรอกข้อความในพินัยกรรมรู้เห็นในขณะทำพินัยกรรมแม้ไม่ระบุว่าเป็นพยาน ก็ถือเป็นพยานได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าพยานในพินัยกรรมอันดับแรก หากจะฟังว่าเป็นลายมือชื่อนายบัว บุญสุข ตามที่จำเลยต่อสู้จริง พยานในพินัยกรรมก็มีเพียงคนเดียว ส่วนนางฉวี วีสเพ็ญ เป็นผู้พิมพ์และกรอกข้อความมิใช่พยาน พินัยกรรมไม่สมบูรณ์นั้น พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีนายบัว บุญสุข ลงชื่อเป็นพยาน และนางฉวี วีสเพ็ญ ลงชื่อเป็นผู้พิมพ์และกรอกข้อความโดยไม่ระบุว่าเป็นพยานด้วยเช่นนี้ จะถือว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 นั้นบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ฯลฯ เมื่อปรากฏว่ามีนางฉวี วีสเพ็ญ เป็นผู้พิมพ์และกรอกข้อความในพินัยกรรม รู้เห็นในขณะทำพินัยกรรมแม้จะไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นพยานด้วยก็ถือได้ว่านางฉวี วีสเพ็ญ เป็นพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมตลอดมาแต่ต้น คือเป็นทั้งผู้พิมพ์และกรอกข้อความและเป็นพยานในพินัยกรรม ต้องด้วยความประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการทำพินัยกรรมแล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1093/2520 ระหว่าง นายเพ็ง กองกะมุด โจทก์ นายชนะ กองกะมุด จำเลย ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่า นางฉวี วีสเพ็ญ เป็นผู้พิมพ์และกรอกข้อความมิได้รู้เห็นในการทำพินัยกรรมด้วยนั้น โจทก์มิได้โต้แย้งตามข้อนี้ไว้เป็นประเด็นในศาลชั้นต้น จึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกามิได้ พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 สมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย”
พิพากษายืน