คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอที่ขอให้บังคับจำเลยออกจากป่าที่จำเลยแผ้วถางครอบครองก่อนใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 4 นั้น เป็นคำขอในทางแพ่ง โจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำขอที่เป็นทางแพ่ง ศาลจึงไม่บังคับให้คำขอที่ขอให้บังคับจำเลยออกจากป่าที่จำเลยแผ้วถางครอบครองภายหลังใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นคำขอในทางอาญา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยแผ้วถางในที่ตอนใด จึงไม่มีทางจะบังคับให้ได้
ปัญหาที่ว่าความผิดของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องกันนั้น เป็นปัญหาที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ามาในชั้นอุทธรณ์จะมายกขึ้นว่าในชั้นฎีกา เป็นการไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นคำนวณลดโทษไม่ถูกต้อง แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๙ ถึงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๐๗ จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าอันเป็นที่ดินของรัฐ เป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๕ ไร่ โดยไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้รับอนุญาตหรือกรระทำภายในเขตที่รัฐมนตรีประกาศขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙,๑๐๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔, ๗๒ ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๑,๑๖ และขอให้บังคับจำเลยออกจากป่าที่ครอบครอง
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยเข้าครอบครองแผ้วถางมา ๘-๙ ปี ไม่ได้รับอนุญาต พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙,๑๐๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๘ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๕๔) ,๗๒ ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๑,๑๖ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔,๗๒ ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) มาตรา ๑๑,๑๖ ปรับ ๑๐๐ บาท ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงปรับ ๗๕ บาท แต่ไม่สั่งให้จำเลยออกไปจากที่ดินตามที่โจทก์ขอ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้สั่งให้จำเลยออกจากที่ดินที่จำเลยก่นสร้าง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นคำนวณให้เหลือค่าปรับ ๗๕ บาท ไม่ถูกต้อง แต่ก็อยู่ในขอบเขตที่ศาลชั้นต้นยังลดโทษให้เหลือเพียงเท่านั้นได้ ศาลชั้นต้นอาจมุ่งหมายถึงโทษปรับ ๗๕ บาทเป็นสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงไม่แก้ในข้อนี้ ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยออกจากที่พิพาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจะทำได้ก็เฉพาะในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งมีว่าคดีนี้จำเลยได้กระทำผิดโดยเข้าก่นสร้างแผ้วถางครอบครองป่าตามที่โจทก์ฟ้องมาก่อนใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๐๓ แม้จะฟังว่าจำเลยยังได้ก่นสร้างภายหลังที่ใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ ๔ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยแผ้วถางในที่ตอนใด เมื่อใด ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าว ฟังเป็นยุติว่า ระยะเวลาที่จำเลยเข้าแผ้วถางครอบครอง แบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือก่อนและหลังใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ คำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยออกจากป่าที่จำเลยแผ้วถาง จึงแบ่งได้เป็นที่ป่า ๒ ตอน
ศาลฎีกา เห็นว่า คำขอที่ขอให้บังคับจำเลยออกจากป่าที่แผ้วถางก่อนใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับที่ ๔ เป็นคำขอในทางแพ่งจริงดังที่โจทก์ฎีกา แต่คำขอตอนนี้โจทก์มีคำขอมาในทำนองเป็นคำขอในทางอาญา มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำขอที่เป็นทางแพ่ง จึงไม่บังคับให้ ส่วนคำขอที่ขอให้บังคับจำเลยออกจากป่าที่จำเลยแผ้วถางครอบครองภายหลังใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ ๔ มิใช่เป็นคำขอในทางแพ่ง แต่เป็นคำขอในทางอาญา เฉพาะกรณีนี้ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ไม่ปรากฏว่าจำเลยแผ้วถางก่อสร้างในที่ตอนใด จึงเป็นคำขอที่ไม่มีทางที่จะบังคับให้ได้
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ความผิดของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องกันนั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ จะมายกขึ้นมาในชั้นฎีกาเป็นการไม่ชอบ
แต่คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลย ๑๐๐ บาท ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงเหลือปรับ ๗๕ บาท ศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดชัดแจ้งลงไปแล้วว่าลดโทษให้จำเลย ๑ ใน ๓ จึงไม่น่าจะแปลความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ให้ถูกต้องเสียได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะการปรับจำเลย เมื่อลดโทษแล้วเป็นคงปรับจำเลย ๖๖ บาท ๖๖ สตางค์ นอกจากนี้แก้นี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share