คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลที่มารดาของบุตรผู้เยาว์ทำขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลนั้น ย่อมไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์
การเข้าครอบครองทรัพย์ตามสัญญาซึ่งจะต้องชำระเงินตอบแทนต่อไป ในบางกรณีอาจถือเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยังมิได้ เพราะเป็นแต่เข้าครอบครองโดยอาศัยความยินยอมของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งภายใต้ข้อผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญาก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน
ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลย และมารดาโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลกับจำเลยโดยจำเลยให้เงินมารดาโจทก์ และมารดาโจทก์ยอมให้จำเลยเข้าครอบครองทรัพย์พิพาทได้ ดังนี้ ถือว่าเป็นการยอมให้เข้าครอบครองดุจเจ้าของโดยเด็ดขาด แม้มารดาโจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 (4) ก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้ความว่ามารดาโจทก์กับจำเลยได้คบคิดกันกระทำการเพื่อให้โจทก์เสียหายเมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์พิพาท(ที่ดิน) มาครบ 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยใส่ชื่อเป็นเจ้าของในโฉนด อ้างว่าได้ทำยอมความกับมารดาโจทก์ ยอมความนี้โจทก์มิได้รู้เห็นด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้อง
จำเลยที่ ๑,๒ ให้การว่า พินัยกรรมปลอม เจ้ามรดกยกทรัพย์พิพาทให้นายพิศาล สรรพกิจ และจำเลยที่ ๒ เมื่อนายพิศาล สรรพกิจตาย จำเลยที่ ๑ และ ๓ ได้รับมรดกและครอบครองทรัพย์พิพาทตลอดมาจำเลยที่ ๑-๒ เคยฟ้องโจทก์กับมารดาโจทก์ และได้ประนีประนอมกัน โดยจำเลยใช้เงินให้โจทก์ โจทก์คืนทรัพย์พิพาทให้จำเลย จำเลยได้ออกโฉนดและครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม แต่จำเลยครอบครองทรัพย์พิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมารดาโจทก์ทำกับจำเลยนอกศาล โดยเสียเงินให้มารดาโจทก์ไป ๑๑๕,๐๐๐ บาท ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ แม้สัญญานี้จะมิได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ (๔) ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์ แต่ก็เป็นพฤติการณ์อันหนึ่งที่แสดงลักษณะการครอบครองของจำเลยได้ว่าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้การเข้าครอบครองตามสัญญาซึ่งจะต้องชำระเงินตอบแทนต่อไปในบางกรณีอาจถือเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยังมิได้เพราะเป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยความยินยอมของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งภายใต้ข้อผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญาก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน แต่คดีนี้ปรากฏว่ามีคดีพิพาทกรรมสิทธิ์ระหว่างโจทก์จำเลยอยู่แล้ว ตามสัญญาไม่มีกรณีที่จะต้องจดทะเบียนการโอน ข้อตกลงที่มารดาโจทก์ยอมให้จำเลยเข้าครอบครองตั้งแต่วันที่ระบุไว้ จึงเป็นการยอมให้เข้าครอบครองดุจเจ้าของโดยเด็ดขาด การชำระเงินเป็นเพียงหนี้อันหนึ่งศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ที่ศาลล่างฟังว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของกว่า ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์นั้น ชอบแล้ว แม้มารดาโจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ (๔) แต่ก็ไม่ได้ความว่ามารดาโจทก์กับจำเลยได้คบคิดกันกระทำการเพื่อให้โจทก์เสียหาย ความข้อนี้จึงไม่ขัดขวางมิให้จำเลยได้สิทธิตามมาตรา ๑๓๘๒ ดังได้วินิจฉัยมาแล้วแต่อย่างใด
จึงพิพากษายืน

Share