แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมรถยนต์อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันวินาศภัยโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัย ต่อมารถยนต์ถูกชนเสียหาย บริษัทรับประกันได้รับมอบไปจัดการซ่อมเมื่อโจทก์ร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโจทก์ได้นำยึดรถยนต์คันอื่นอีก 6 เว้นแต่รถยนต์คันนี้ซึ่งอยู่ในอู่ของบริษัทผู้รับประกันภัยโจทก์มิได้นำยึด ดังนี้เห็นว่ารถยนต์คันนี้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น การที่โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยก็เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนี้ยังเป็นของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่ารถยนต์คันนี้กลับมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ต้องถือว่าในระหว่างรถยนต์ดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมอยู่ในอู่ของบริษัทผู้รับประกันภัย อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตลอดมาจนเสร็จคดี เมื่อศาลพิพากษาให้ส่งมอบจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันนี้ให้โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ 4 คันจากจำเลยที่ 1 แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบรถยนต์ 4 คันนี้ให้โจทก์รักษาไว้ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีเฉพาะรถยนต์ 4 คันนี้โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ให้ยกฟ้องโจทก์ในคำพิพากษามิได้กล่าวไว้ซึ่งวิธีการชั่วคราวที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณา ฉะนั้นจึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลที่ให้ยึดรถยนต์ 4 คันนี้ไว้ชั่วคราวเป็นอันยกเลิกไปในตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260(1) จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับรถยนต์ 4 คันที่กลับคืนไปในฐานะผู้เช่าซื้อซึ่งมิได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ 4 คันนี้ไว้ได้เพราะโจทก์มิใช่ผู้ครองรถยนต์ 4 คันนี้โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 โจทก์เป็นแต่เพียงผู้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้รักษารถยนต์ 4 คันนี้ไว้ในระหว่างถูกยึดไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อการยึดทรัพย์ถูกยกเลิกไป โจทก์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์ก็ต้องคืนรถยนต์ที่รับรักษาไว้แก่จำเลยที่ 1 ไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ย่อยาว
คดีนี้พิพาทกันชั้นบังคับคดี โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โจทก์ไป 7 คัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญา และให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ทั้ง 7 คัน โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดรถยนต์ทั้ง 7 คันเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ก่อนพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยึดรถทั้ง 7 คันไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา แต่ยึดได้เพียง 6 คัน และให้โจทก์เป็นผู้รักษา ส่วนรถยนต์คันเลขทะเบียนที่ ก.ท.12583 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าถูกชนเสียหาย ผู้รับประกันวินาศภัยรับไปทำการซ่อม ต่อมาศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.12582 ก.ท.12583 ก.ท.12584 และ ก.ท.14218 ให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยส่วนอีก 3 คันพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ ก.ท.12582ก.ท.12583 และ ก.ท.12584 โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยโจทก์ขอรับรถยนต์ ก.ท.12582 และ ก.ท.12584 ซึ่งกองหมายยึดและมอบให้โจทก์รักษาไว้ ส่วนรถยนต์ ก.ท.12583 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ได้จึงขอให้ใช้ราคา ส่วนจำเลยที่ 1 ขอรับรถยนต์ ก.ท.14191 ก.ท.14087 ก.ท.14218 และ ก.ท.ป.5297 (ทะเบียนใหม่ น.บ.0232) ซึ่งกองหมายยึดไว้และศาลพิพากษายกฟ้องคืนไป โจทก์แถลงต่อกองหมายไม่ยอมให้คืนรถยนต์ 4 คันนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 แล้วกองหมายจึงไม่มอบรถยนต์ 4 คันให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งบังคับเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ส่งมอบรถยนต์ 4 คัน และว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.12583 อยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 เอารถยนต์คันนี้ไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทธนภัณฑ์จำกัด ผู้รับประกันภัยโจทก์ยื่นคำแถลงว่า รถยนต์ทุกคันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โจทก์มีสิทธิรับส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียนก.ท.12583 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องส่งมอบให้โจทก์ตามคำบังคับของศาล เมื่อส่งไม่ได้ ก็ต้องชดใช้ราคาศาลชั้นต้นสั่งว่า
1. รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.12583 จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 4 เมษายน 2503 ครั้งหนึ่งแล้ว ศาลฎีกากล่าวถึงอุทธรณ์ฉบับนี้ไว้ในคำพิพากษาฎีกาแล้วไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะรื้อฟื้นเอาเรื่องที่ศาลสั่งไปแล้วให้กลับมาวินิจฉัยซ้ำอีก
2. กรณีจำเลยที่ 1 ขอรับรถยนต์ 4 คันคืนนั้น เห็นว่าโจทก์ร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา และศาลได้ยึดและมอบให้โจทก์รักษาเมื่อศาลฎีกายกฟ้อง ไม่ได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวที่สั่งไว้ จึงต้องถือว่าคำสั่งยึดรถยนต์พิพาทถูกเพิกถอนไปในตัว โจทก์ต้องคืนรถยนต์ 4 คันนี้ให้จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์คืนรถยนต์ 4 คันนี้ให้จำเลยที่ 1
โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.12583 อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมาแต่ต้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทธนภัณฑ์ จำกัด เมื่อถูกชนก็ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบรถยนต์คันนี้ให้บริษัทจัดการซ่อม การที่โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยก็เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนี้ยังเป็นของโจทก์ไม่อาจถือได้ว่ารถยนต์คันนี้กลับมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ต้องถือว่ารถยนต์คันนี้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตลอดมาจนเสร็จคดี จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์หมายเลขทะเบียนก.ท.14191 ก.ท.14087, ก.ท.14218 และ ก.ท.ป.5297 (หมายเลขทะเบียนใหม่ น.บ.0232) ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241เพราะจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อและรถยนต์คันนี้อยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ 4 คันนี้ จากจำเลยที่ 1 แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มอบรถยนต์ 4 คันนี้ให้โจทก์รักษาไว้ ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีเฉพาะรถยนต์ 4 คันนี้ โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ ให้ยกฟ้องโจทก์และในคำพิพากษามิได้กล่าวไว้ซึ่งวิธีการชั่วคราวที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณา ฉะนั้น จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลที่ให้ยึดรถยนต์ 4 คันนี้ไว้ชั่วคราวเป็นอันยกเลิกไปในตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260(1) จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจะได้รับรถยนต์ 4 คันนี้กลับคืนไปในฐานะผู้เช่าซื้อซึ่งมิได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ 4 คันนี้ไว้ได้ เพราะโจทก์มิใช่ผู้ครองรถยนต์ 4 คันนี้ โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 โจทก์เป็นแต่เพียงผู้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้รักษารถยนต์ 4 คันนี้ไว้ระหว่างถูกยึดชั่วคราวเท่านั้น เมื่อการยึดทรัพย์ถูกยกเลิกไปโจทก์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์ก็ต้องคืนรถยนต์ที่รักษาไว้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
พิพากษายืน