คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารมีว่า “…..ได้รับเงินวางมัดจำค่าที่ดิน…..เป็นเงิน 5,000 บาท…..เพื่อทำสัญญาซื้อขาย ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504(ในระยะนี้ข้าพเจ้าจะทำการขายให้ใครไม่ได้) ขายในราคาไร่ 35,000 บาท…..” โจทก์อ้างว่าเอกสารนี้เป็นสัญญาจะซื้อขาย กำหนดไปจดทะเบียนทำการซื้อขายตามกฎหมายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 จำเลยสู้ว่า เอกสารนี้เป็นเพียงใบรับเงินค่ามัดจำคำว่า เพื่อทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 หมายถึงการทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองอีกชั้นหนึ่ง โดย โจทก์จะต้องผ่อนชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ได้มีการพูดจากันก่อนทำเอกสารนี้แล้วว่า ในการที่จะทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองในวันที่กำหนดนั้น จะต้องมีรายละเอียดตามที่พูดกันไว้ ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นการโต้เถียงความหมายของถ้อยคำในเอกสารว่า คู่ความอีกฝ่ายคือโจทก์ตีความหมายผิด จำเลยย่อมนำสืบแสดงถึงพฤติการณ์และข้อตกลงเพื่อเป็นเหตุผลแสดงความหมายแห่งถ้อยคำในเอกสารได้ ไม่เป็นการสืบข้อความเพิ่มเติมในเอกสาร
แม้วิธีที่จะทำสัญญาจะซื้อขายกัน กฎหมายกำหนดไว้หลายวิธีก็ตาม เมื่อคู่สัญญากำหนดจะทำกันโดยวิธีทำเป็นหนังสือสัญญาให้มีข้อตกลงทุกข้อตามที่พูดกัน ก็ต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา จะนำเอาวิธีอื่นเช่นการวางเงินมัดจำมาวินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงจะซื้อขายกันแล้วโดยบริบูรณ์หาได้ไม่
การวางเงินมัดจำซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือขึ้นอีกฉบับหนึ่งในวันที่กำหนด (ตามเอกสารดังกล่าวในวรรคต้น) นั้น ผูกพันต่อกันเพียงถึงวันที่กำหนดไว้ว่าจะทำหนังสือสัญญาขึ้นใหม่เท่านั้น และผูกพันเท่าที่มีข้อความในวงเล็บกำกับไว้ว่า “ในระยะนี้ข้าพเจ้าจะทำการขายให้ใครไม่ได้” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ถ้าพ้นระยะนี้และไม่มีการทำหนังสือสัญญาขึ้นตามที่กำหนดกันไว้ จึงขายให้คนอื่นได้
คู่กรณีพูดกันว่า ข้อสัญญาจะต้องตกลงกันโดยทำเป็นหนังสือจึงถือว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ และการที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้โดยพูดกันว่าโจทก์จะต้องชำระเงินในวันทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย และต้องชำระราคาล่วงหน้างวดที่ 2ในวันอื่นต่อไปนั้น ก็หาเป็นการผูกพันไม่ จนกว่าข้อตกลงเช่นว่านี้จะได้ทำเป็นหนังสือขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้เสนอขายที่ดินให้โจทก์โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำไว้ โดยตกลงว่าจะไปจดทะเบียนทำการซื้อขายกันในภายหลัง ต่อมาจำเลยทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต่อโจทก์ โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินบางส่วนให้จำเลยและจะทำสัญญาจะซื้อขายกันอีก โจทก์ไม่ยอมจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำแล้วก็ไปสมยอมจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเจ้าของในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ต่อสู้และฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอขายที่ดินแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้แนะนำโจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และวางเงินมัดจำไว้โดยตกลงจะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเองในวันหลัง และโจทก์ตกลงจะชำระราคาที่ดินงวดหนึ่งในวันทำสัญญาซื้อขายและอีกงวดหนึ่งในวันที่กำหนดส่วนที่เหลือจะได้ตกลงแบ่งผ่อนชำระกันเป็นงวด ๆ ครั้นถึงกำหนดวันทำสัญญาจะซื้อขายกันเองโจทก์ไม่มีเงินจึงขอผ่อนชำระ และเมื่อพ้นงวดแล้วโจทก์ก็ยังชำระเงินไม่หมดงวด จำเลยเตือนให้โจทก์ชำระ ก็ไม่ชำระในที่สุดจำเลยให้โจทก์นำเงินที่ค้างไปชำระ และตกลงแบ่งผ่อนชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ พร้อมกับทำหนังสัอสัญญาซื้อขายกันต่อไป โจทก์ก็ไม่ชำระและไม่มาติดต่อ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายและริบเงินมัดจำกับเงินผ่อนชำระล่วงหน้าใช้ค่าเสียหายโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง การผิดสัญญาของโจทก์ทำให้จำเลยต้องเสียหายเพราะจำเลยหวังว่าจะได้รับเงินจากโจทก์ จึงไปวางเงินมัดจำซื้อที่ดินไว้ และกำหนดโอนกันแล้ว เมื่อไม่ได้เงินจากโจทก์ จำเลยจึงต้องเอาที่พิพาทไปจำนองโดยเสียค่านายหน้าเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินนั้นและจำเลยไม่มีเงินไถ่จำนองจึงได้ตกลงขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ต้องเสียหาย โดยเสียค่านายหน้าจำนอง ค่าดอกเบี้ยโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 ต้องขายที่ดินได้ราคาต่ำไปจากที่ควรได้รับจากโจทก์โจทก์ต้องใช้ราคาที่ดินที่ขาดไปนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้ศาลบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยเป็นเพียงผู้แนะนำให้โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ต่อมาโจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคาจึงยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันเองตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์และขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ก็มิได้โต้แย้ง โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่เสียหาย หากเสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เอาที่ดินไปจำนองไม่ชอบ การที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร่วม ก็เป็นการสมยอมกัน มิได้มีการชำระเงินกันจริงจังขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า หนังสือรับเงินมัดจำ5,000 บาทนั้น เป็นเพียงใบรับเงินมัดจำ มิใช่หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายดังโจทก์อ้าง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ค่าเสียหายที่จำเลยต้องเอาที่ดินไปจำนองนั้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษพยานจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าโจทก์อาจรู้หรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนี้มาก่อน จำเลยที่ 1 จึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ในกรณีนี้ไม่ได้ ส่วนค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินได้ราคาต่ำไปเป็นความเสียหายเนื่องจากโจทก์ผิดสัญญา โจทก์จึงต้องรับผิดพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านางผิน สอนสิงห์ (ภรรยานายสัน สอนสิงห์) ได้รับเงินวางมัดจำค่าที่ดินโฉนดที่ 2953 เลขที่ดิน 110 จำนวน 15 ไร่ เป็นเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) จากนางธนิต กำเนิดเพชร เพื่อทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504(ในระยะนี้ข้าพเจ้าจะทำการขายให้ใครไม่ได้) ขายในราคาไร่ 35,000 บาท(สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)” โจทก์อ้างว่าเป็นสัญญาจะซื้อขายกำหนดไปจดทะเบียนทำการซื้อขายกันตามกฎหมายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 จำเลยสู้ว่าเอกสารนี้เป็นเพียงใบรับเงินค่ามัดจำ คำว่า เพื่อทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 หมายถึงการทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองอีกชั้นหนึ่ง โดยโจทก์จะต้องผ่อนชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ได้มีการพูดจากันก่อนทำเอกสารนี้แล้วว่า ในการที่จะทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองในวันที่กำหนดไว้นั้น จะต้องมีรายละเอียดตามที่พูดกันไว้ นั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นการโต้เถียงความหมายของถ้อยคำในเอกสารว่าคู่ความอีกฝ่ายคือโจทก์ตีความหมายผิดจำเลยย่อมนำสืบแสดงถึงพฤติการณ์และข้อตกลงเพื่อเป็นเหตุผลแสดงความหมายแห่งถ้อยคำในเอกสารใด ไม่เป็นการสืบข้อความเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาที่โจทก์จำเลยที่ 1 มุ่งหมายจะกระทำต่อกันในวันที่ 10 พฤษภาคม 2504 นั้น คือหนังสือสัญญาจะซื้อขายทำกันเอง มีรายละเอียดตามที่พูดตกลงล่วงหน้ากันไว้ และจะต้องตกลงกันต่อไปในรายละเอียดที่ค้างตกลงกันและยังไม่ได้พูดกัน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามงวดที่ตกลงกันไว้ โจทก์จำเลยจะมีความผูกพันรับผิดต่อกันเพียงใดนั้น จะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 และ 367 ที่พิพาทนี้โจทก์ไม่ต้องการซื้อด้วยเงินสดโดยไม่มีการผ่อนส่ง จำเลยก็ไม่ต้องการขาย ถ้าไม่มีการชำระราคาล่วงหน้าเป็นงวดก่อนที่จะโอนขาย ข้อนี้จะต้องทำความตกลงกันให้สำเร็จด้วยวิธีที่จะต้องทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองในวันที่กำหนดไว้ถ้าข้อนี้ไม่ทำขึ้นเป็นหนังสือสัญญาให้เป็นผลสำเร็จความตกลงที่จะซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.7 จะไม่ทำขึ้นเลย ดังนั้นข้อสัญญาที่ว่าจะซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.7 ยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งให้มีข้อความตามที่ได้พูดล่วงหน้ากันไว้แม้วิธีจะทำสัญญาจะซื้อขายกันกฎหมายกำหนดไว้หลายวิธีก็ตาม เมื่อคู่สัญญากำหนดจะทำกันโดยวิธีทำเป็นหนังสือสัญญาให้มีข้อตกลงกันทุกข้อตามที่พูดกัน ก็ต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา จะนำเอาวิธีอื่นเช่นการวางเงินมัดจำมาวินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงจะซื้อขายกันแล้วโดยบริบูรณ์หาได้ไม่การวางเงินมัดจำซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือขึ้นอีกฉบับหนึ่งในวันที่กำหนดตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น ผูกพันต่อกันเพียงถึงวันที่กำหนดไว้ว่าจะทำหนังสือสัญญาขึ้นใหม่เท่านั้นและผูกพันเท่าที่มีข้อความในวงเล็บกำกับไว้ว่า “ในระยะนี้ข้าพเจ้าจะทำการขายให้ใครไม่ได้” แปลงความหมายได้ว่า ถ้าพ้นระยะนี้และไม่มีการทำหนังสือสัญญาขึ้นตามที่กำหนดไว้จึงขายให้คนอื่นได้เมื่อข้อสัญญาที่ได้พูดกันก่อนทำเอกสารหมาย จ.7 ว่าจะต้องตกลงกันโดยทำเป็นหนังสือ จึงถือว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือและการที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้โดยพูดกันว่าโจทก์จะต้องชำระเงินในวันทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย และต้องชำระราคาล่วงหน้างวดที่ 2 ก็หาเป็นการผูกพันไม่ จนกว่าข้อตกลงเช่นว่านี้จะต้องทำเป็นหนังสือขึ้นเช่นเดียวกัน การบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นการบอกเลิกสัญญาที่จะทำกันใหม่ มิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมายจ.7 เพราะข้อตกลงจะซื้อขายยังไม่สมบูรณ์เป็นสัญญาจะซื้อขาย จึงไม่มีสัญญาอันใดที่จะบอกเลิก การที่จะวินิจฉัยว่ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายใดย่อมมีไม่ได้เช่นกัน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะริบเงินมัดจำ และเงินที่โจทก์ชำระไว้โจทก์จำเลยจะกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาไม่ได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share