แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดี 17 สำนวน ซึ่ง ว. จำเลยถูกฟ้องทุกสำนวน บางสำนวนมีจำเลยอื่นร่วมด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตัดบทมาตราที่ศาลชั้นต้นปรับบทไว้เกินฟ้องออกบ้าง ที่ศาลชั้นต้นให้ลงโทษตามบทหนักที่สุดก็แก้เป็นว่าให้ลงโทษตามกระทงที่หนักที่สุดหรือตามบทและกระทงที่หนักที่สุดด้วย แล้วแต่กรณีบางสำนวนยังคงลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี 8 เดือน ตามเดิมบ้าง ตัดมาตราที่เกินฟ้องออกแล้วแก้โทษให้เบาลงจาก 3 ปี 8 เดือน เป็น 1 ปี 4 เดือนบ้าง เป็น2 ปีบ้าง และที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งให้นับโทษติดต่อกัน ก็ให้นับโทษจำเลยทั้ง 17 สำนวนติดต่อกันด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และโทษจำคุกของจำเลยแต่ละคนแต่ละสำนวนไม่เกิน 5 ปี คู่ความฎีกาได้แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย
สำหรับ ว. นั้น แม้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้นับโทษทั้ง 17 สำนวนติดต่อกันแล้วรวมเป็นโทษจำคุกถึง 20 ปี ก็เป็นเรื่องของการบังคับคดี เพียงแต่แก้เป็นให้นับโทษของแต่ละสำนวนต่อกับโทษในสำนวนอื่นนั้น จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีทั้ง ๑๗ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา
สำนวนที่ ๑ และ ๒ โจทก์ฟ้องนายวิชัยเป็นจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐, ๘๓ และขอให้นับโทษติดต่อกันสำนวนที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๕ ฟ้องนายวิชัยคนเดียวเป็นจำเลยสำนวนที่ ๓ ฟ้องนายวิชัยและนายยาวเป็นจำเลย สำนวนที่ ๘, ๙, ๑๔, ๑๖ ฟ้องนายวิชัย นายยาว และนายใบเป็นจำเลย สำนวนที่ ๑๗ ฟ้องนายวิชัยนายใบ และนายมูล เป็นจำเลย ในสำนวนที่ ๓ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓,๓๑๐, ๘๓ ในสำนวนที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๙, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๔ ตามมาตรา ๒๘๓,๓๐๙, ๓๑๐, ๘๓ ในสำนวนที่ ๘, ๑๖, ๑๗ ตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐,๘๓ ในสำนวนที่ ๑๔ ตามมาตรา ๒๘๒, ๓๑๐, ๘๓ และนับโทษติดต่อกันสำนวนที่ ๑๐ ฟ้องนายวิชัย นายยาว และนายมูลเป็นจำเลย ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐, ๘๓, ๙๐, ๙๑ และขอให้นับโทษต่อกัน
จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ เมื่อโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายวิชัยจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ในสำนวนที่ ๑, ๒ กับมีความผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓ และ ๓๐๙, ๓๑๐ ในสำนวนที่ ๓ ถึง ๑๗ นายยาวจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๔ และ ๓๐๙,๓๑๐ ในสำนวนที่ ๓, ๘, ๙, ๑๐, ๑๔, ๑๖ นายใบจำเลยมีความผิดตามมาตรา๒๘๒, ๒๘๓, และ ๓๐๙, ๓๑๐ ในสำนวนที่ ๘, ๙, ๑๔, ๑๖, ๑๗ นายมูลจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, และ ๓๐๙, ๓๑๐ ในสำนวนที่ ๘, ๙, ๑๔,๑๖, ๑๗ นายมูลจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓ และ ๓๐๙, ๓๑๐ในสำนวนที่ ๑๐, ๑๗ เห็นว่าการกระทำผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓ กับความผิดตามมาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ใน ๑๕ สำนวนหลัง จำเลยกระทำเกี่ยวเนื่องติดต่อกันสมควรลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา ๒๘๓, ๙๐ ให้จำคุกนายวิชัยจำเลยในสำนวนที่ ๑, ๒ ตามมาตรา ๓๐๙ สำนวนละ ๒ ปี ในสำนวนอื่น ๆ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ อันเป็นบทหนัก ให้จำคุกนายวิชัย นายยาว นายใบ นายมูลจำเลยคนละและสำนวนละ ๕ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุกนายวิชัยจำเลยในสำนวนที่ ๑, ๒ สำนวนละ ๑ ปี ๔ เดือน ในสำนวนอื่นตามที่จำเลยแต่ละคนถูกฟ้องให้จำคุกจำเลยคนละสำนวนละ ๓ ปี ๘ เดือน ตามรูปคดีและพฤติการณ์ยังไม่สมควรให้นับโทษต่อ ให้นับโทษจำเลยทั้ง ๑๗ สำนวนพร้อมกันไป
โจทก์ นายวิชัย นายใบ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนที่ ๓ นายวิชัยและนายยาวจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๘๓, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา ๙๑ ลดโทษแล้วให้จำคุกคนละ ๓ ปี ๘ เดือนสำนวนที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๕ นายวิชัยผิดตามมาตรา ๒๘๓, ๓๐๙,๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด ลดโทษแล้วให้จำคุกสำนวนละ ๓ ปี ๘ เดือน สำนวนที่ ๘ นายวิชัย นายยาว นายใบ จำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นบทหนักและกระทงหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐, ๙๑ ลดโทษแล้วให้จำคุกคนละ ๓ ปี ๘ เดือน สำนวนที่ ๙ นายวิชัย นายใบ นายยาว จำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดลดโทษแล้วให้จำคุกคนละ ๓ ปี ๘ เดือน สำนวนที่ ๑๐ นายวิชัย นายยาวจำเลยผิดตามมาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๐๙ กระทงเดียวลดโทษแล้วจำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน ส่วนนายมูลจำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๒,๒๘๓, ๓๐๙ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นบทและกระทงหนักที่สุดลดโทษแล้วจำคุก ๓ ปี ๘ เดือน สำนวนที่ ๑๔ นายใบ นายวิชัย นายยาวจำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๒ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดลดโทษแล้วจำคุกคนละ ๒ ปี สำนวนที่ ๑๖ นายวิชัย นายยาว นายใบ จำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นบทและกระทงหนักที่สุด ลดโทษแล้วจำคุกคนละ ๓ ปี ๘ เดือน สำนวนที่ ๑๗นายวิชัย นายใบ นายมูล จำเลยผิดตามมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นบทและกระทงหนักที่สุด ลดโทษแล้วจำคุกคนละ ๓ ปี ๘ เดือน ทั้งนี้ ให้นับโทษจำเลยทุกคนติดต่อกันไป เมื่อรวมโทษนายวิชัยจำเลยแล้วเป็นโทษจำคุกเกินกว่า ๒๐ ปี แต่คดีทั้ง ๑๗ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา จึงให้จำคุกนายวิชัยจำเลย ๒๐ ปี ตามมาตรา ๙๑ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
นายวิชัย นายยาว นายมูลจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดี ๑๗ สำนวนนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดตามสำนวนที่ ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ ให้ตรงตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ตัดบทมาตราที่โจทก์มิได้ฟ้องออก และพิพากษาแก้การกระทำผิดของจำเลยตามสำนวนที่ ๓ ถึง ๑๗ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นความผิดหลายบทและลงโทษตามบทหนักที่สุด เป็นความผิดหลายกระทงให้ลงโทษตามกระทงที่หนักที่สุด และให้นับโทษจำเลยทั้ง ๑๗ สำนวนติดต่อกันซึ่งศาลชั้นต้นมิได้นับโทษของจำเลยติดต่อกัน เฉพาะสำนวนที่ ๘, ๑๖ และ ๑๗ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำเลยตามบทและกระทงที่หนักที่สุดส่วนกำหนดโทษของจำเลยแต่ละคน แต่ละสำนวน คงจำคุกจำเลยคนละ๓ ปี ๘ เดือน มิได้แก้ไข สำนวนที่ ๑๐ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้บทมาตรานายวิชัยและนายยาวหรือใจ้หมาจำเลยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ้างบทมาตรา ๒๘๒, ๒๘๓ ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องมาด้วย และแก้กำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๓ ปี ๘ เดือนเป็นจำคุกจำเลยคนละ ๑ ปี ๔ เดือน และสำนวนที่ ๑๔ ได้แก้บทมาตรา นายวิชัยและนายยาวหรือใจ้หมาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๒, ๓๑๐ โดยตัดมาตรา ๒๘๓, ๓๐๙ ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องออกเสีย และแก้โทษจากจำคุก ๓ ปี ๘ เดือน เหลือ ๒ ปีด้วย อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษจำคุกของจำเลยแต่ละคนแต่ละสำนวนก็ไม่เกิน ๕ ปี จำเลยจะฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น
ฎีกาของนายวิชัยจำเลยเฉพาะที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นับโทษของจำเลยทั้ง ๑๗ สำนวนติดต่อกัน รวมเป็นโทษจำคุกถึง ๒๐ ปีเป็นการแก้ไขมาก นั้นเป็นฎีกาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้นับโทษจำเลยติดต่อกันนั้น เป็นเรื่องของการบังคับคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้แต่เพียงให้นับโทษของแต่ละสำนวนต่อกับโทษในสำนวนอื่นนั้น จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากหาได้ไม่ ฎีกาของนายวิชัยจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นและฎีกาของนายยาวหรือใจ้หมาจำเลย กับฎีกาของนายประมูล หรือมูลจำเลยนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน