คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วมีการเดินสะพัดทางบัญชีในบัญชีกระแสรายวันตลอดมาโดยมีการทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้ง เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว แม้ยังไม่มีการทำบันทึกต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปแต่โจทก์ยังยอมให้จำเลยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อมาอีกจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้สัญญาเดินสะพัดดังกล่าวยังมีผลต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญา การที่ต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกฉบับหนึ่งโดยให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันในบัญชีกระแสรายวันเดิมและต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกเป็นรายลักษณ์ อักษรโดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาเช่นเดียวกับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฉบับที่ 2 ดังนี้แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่วันที่โจทก์กับจำเลย ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 โจทก์กับจำเลย ตกลงเดินสะพัดตามบัญชีเดินสะพัดคือบัญชีกระแสรายวันเดิม โดยถือเงื่อนไขตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกและ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 รวมกัน ซึ่งการคิดดอกเบี้ย ต้องนำยอดหนี้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่ละฉบับ มาคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันในแต่ละสัญญาแยกกันก่อน แล้วจึงนำดอกเบี้ยมารวมยอดกันเพื่อทบเป็นต้นเงินใหม่ การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคิดยอดหนี้ที่จำเลย ต้องชำระแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่า จำเลยนำเงินเข้าบัญชี หักชำระหนี้หมดแล้วในวันที่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฉบับที่ 2 แล้วจึงเบิกถอนเงินออกไปใหม่อีกในวันเดียวกัน การคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่เบิกถอนออกไปใหม่ยังพอที่ศาล จะพิพากษากำหนดวิธีการคิดยอดหนี้เฉพาะดอกเบี้ยตามอัตรา ที่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องคิดคำนวณเป็นตัวเลขให้จำเลย ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์ควรได้รับชำระหนี้ จากลูกหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 12,321,897.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน 6,450,073.54 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 10,526 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน9,448,921.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน4,951,269.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ 6,442,623.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ 12,682.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 4,951,269.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 20, 21 และ 22 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรังและโฉนดเลขที่ 4116 ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2520 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้แก่โจทก์ตามใบขอเปิดบัญชีเอกสารหมาย จ.3 และบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 600,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้เสร็จวันที่ 12กันยายน 2527 และมีการทำบันทึกต่ออายุสัญญาออกไปอีก 6 ครั้งครั้งสุดท้ายทำบันทึกต่ออายุสัญญาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2532กำหนดชำระหนี้เสร็จภายในวันที่ 12 กันยายน 2533 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบันทึกต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6และวันที่ 28 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่โจทก์อีกฉบับหนึ่งในวงเงิน 4,400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้เสร็จภายในวันที่ 12 กันยายน 2533ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 โดยการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาทั้งสองฉบับได้ใช้บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 20 ถึง 22 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรังพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี หลังจากมีการขึ้นวงเงินจำนอง 2 ครั้งแล้ว มีวงเงินจำนองรวมทั้งสิ้น 2,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินจำนองเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4116 ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์ในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับหลัง โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.13 โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.27ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.18
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นในอัตราเท่าใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่โจทก์ฉบับแรกเมื่อปี 2526 วงเงิน600,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วมีการเดินสะพัดทางบัญชีในบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ตลอดมาโดยมีการทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว 6 ครั้ง ซึ่งในการต่ออายุครั้งที่ 5 ได้ตกลงต่ออายุสัญญาไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2532ครั้นเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาตามที่ต่อไปในครั้งที่ 5 ดังกล่าวแล้วแม้ยังไม่มีการทำบันทึกต่ออายุสัญญาครั้งที่ 6 แต่ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ปรากฏว่า หลังจากวันครบกำหนดอายุสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2532 โจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อมาอีกจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวยังมีผลต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญา ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกฉบับหนึ่งเป็นฉบับที่ 2 วงเงิน 4,400,000บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 โดยให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันในบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 เช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรกกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2533 และต่อมาวันที่ 30พฤศจิกายน 2532 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกเป็นลายลักษณ์อักษรโดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2533 เช่นเดียวกับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 ดังกล่าวแล้ว ดังนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 เป็นต้นไป โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเดินสะพัดตามบัญชีเดินสะพัดคือบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 โดยถือเงื่อนไขตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกวงเงิน 600,000 บาท และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2วงเงิน 4,400,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 5,000,000 บาท ซึ่งการคิดดอกเบี้ยต้องนำยอดหนี้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่ละฉบับมาคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันในแต่ละสัญญาแยกกันก่อนแล้วจึงนำดอกเบี้ยมารวมยอดกันเพื่อทบเป็นต้นเงินใหม่ได้จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่ละฉบับในอัตราเท่าใด สำหรับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรก แม้ขณะเริ่มต้นทำสัญญาในวันที่ 12กันยายน 2526 จะตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยไม่มีข้อสัญญาให้โจทก์คิดปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเองได้ แต่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยลงวันที่ 3 มีนาคม 2529 เอกสารหมาย จ.18(ฉบับที่ 1) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี และตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ก็ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจนในเอกสารหมาย จ.16 เป็นร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาก็ระบุอัตราดอกเบี้ยลดลงเป็นร้อยละ 14 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 13.5 ต่อปีบ้างส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแก้ไขอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกเพื่อไม่ให้เกินอัตราตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ในแต่ละช่วงระยะเวลา ดังนี้ตามบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกเป็นครั้งที่ 6 ที่ระบุให้ถือข้อตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิมจึงย่อมหมายถึงข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกันแล้วด้วย มิใช่หมายถึงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ17.5 ต่อปี ขณะทำสัญญาครั้งแรก เพราะขณะที่มีการตกลงต่ออายุสัญญานั้น โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดไว้ ซึ่งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่าที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.18 (ฉบับที่ 1) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไป และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.18 (ฉบับที่ 2) ให้เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 เป็นต้นไป แสดงว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529ถึงเดือนพฤศจิกายน 2532 ที่มีการทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกเป็นครั้งที่ 6 โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีจึงน่าจะตกลงอัตราดอกเบี้ยกันเพียงร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น ส่วนที่ตามบันทึกต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 6 เอกสารหมาย จ.6 (แผ่นสุดท้าย) ระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 มีหนี้ต่อโจทก์จำนวน 5,084,664.37 บาท นั้น ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ว่า หนี้จำนวนดังกล่าวเกิดจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนไปกับนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 28 ถึง 30 พฤศจิกายน 2532 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นหนี้เกี่ยวกับดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย จึงมิใช่เหตุผลแสดงถึงข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยให้คิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานดังกล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุผลให้ฟังได้ว่า ในการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกดังกล่าว โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้ถือตามข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับปรุงแก้ไขกันมาแล้วเป็นอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงถือได้ว่านับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532เป็นต้นไป โจทก์ตกลงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีแม้ต่อมาก่อนจะถึงวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2533ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นร้อยละ 16.5 ต่อปี ได้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์แก้ไขข้อสัญญาให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นทั้งตามคำฟ้องโจทก์ยังระบุว่าโจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยถึงร้อยละ17.5 ต่อปี ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกซึ่งได้ตกลงต่ออายุออกไปดังกล่าวมาข้างต้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ในขณะต่ออายุสัญญาดังกล่าวแล้วเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 แม้สัญญาฉบับนี้จะมีข้อสัญญาให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้แต่ก็มีเงื่อนไขว่า โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วยและข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์มิได้แจ้งว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ดังกล่าวแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามข้อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532จนถึงวันครบกำหนดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2533 ได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่ทบต้นต่อไปในอัตราเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เช่นกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์มีสิทธิคิดได้ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับพิพากษายกฟ้องเพราะยากที่ศาลจะคิดคำนวณยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามที่วินิจฉัยมาแล้วได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับคดีนี้มีปัญหาเฉพาะการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคิดยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1ต้องชำระแก่โจทก์ และตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ปรากฏว่าในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหักชำระหนี้หมดแล้วจึงเบิกถอนเงินออกไปใหม่อีกในวันเดียวกัน จึงมีปัญหาคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่เบิกถอนออกไปใหม่นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 เป็นต้นไปเท่านั้น ซึ่งยังพอที่ศาลจะพิพากษากำหนดวิธีการคิดยอดหนี้เฉพาะดอกเบี้ยตามอัตราที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องคิดคำนวณเป็นตัวเลขออกมา เพราะสามารถที่จะคิดคำนวณตัวเลขให้ถูกต้องกันต่อไปในชั้นบังคับคดีได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์ควรได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้และบังคับจำนองทรัพย์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจำนองเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ โดยในส่วนต้นเงินที่จำเลยที่ 1เบิกถอนออกจากบัญชีไปและเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีหักลดหนี้ให้คิดหักลดตามรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 แต่ในส่วนดอกเบี้ยที่นำมาคิดทบต้นในแต่ละเดือนจากต้นเงินยอดที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ในรายการต่าง ๆ แต่ละเดือนนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2533 ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ถ้าช่วงใดของระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยลงบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16ไว้ในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ให้คิดตามอัตราที่คิดไว้จริงเมื่อคิดหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระและดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวแล้วนำมารวมเป็นยอดหนี้ ณ วันที่ 12 กันยายน 2533 ได้เป็น จำนวนเท่าใดให้ถือเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ (แต่ต้องไม่เกินจำนวน 6,450,073.54 บาท ตามฟ้อง) และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวโดยคิดไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์(แต่ยอดหนี้ถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 12,309,214.32 บาท ตามฟ้อง)และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์จำนวน12,682.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 10,526 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน 4,951,269.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2533จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว และที่ดินโฉนดเลขที่ 4116พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองต่อไป จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เท่าที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share