แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิผู้อื่นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และมาตรา 90/12 ก็ไม่มีข้อห้ามลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นเมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้ทำแทนแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 ไม่ปฏิบัติตามและไม่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนด คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยอันมีผลเสมือนว่าไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้ และศาลแรงงานกลางสามารถถือตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดแล้วได้โดยไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ที่ 22/2555 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2555 โดยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายรวมเป็นเงิน 2,356,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างที่ค้างในแต่ละงวดนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 541,020 บาท รวมเป็นเงิน 2,897,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,356,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างเป็นเงินจำนวน 2,356,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ในแต่ละงวดนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 541,020 บาท รวมเป็นเงิน 2,897,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,356,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเริ่มทำงานวันที่ 1 มิถุนายน 2547 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายอำนวยการ รับเงินเดือนอัตราเดือนละ 123,900 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ถึงเดือนเมษายน 2554 จำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เพียงเดือนละ 40,000 บาท ส่วนที่เหลืออีกเดือนละ 83,900 บาท จำเลยจะจ่ายให้ภายหลัง ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2553 บริษัทบางนา เอส.อี.ซี.กรุ๊ป จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางฟื้นฟูกิจการของจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.25/2553 วันที่ 21 มิถุนายน 2554 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 จำเลยออกหนังสือรับรองว่าจำเลยค้างค่าจ้างโจทก์รวม 1,480,330 บาท วันที่ 25 มิถุนายน 2555 โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 2,356,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาในระหว่างที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จำเลยฟื้นฟูกิจการเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.25/2553 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 ไม่ได้ห้ามโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งและแจ้งให้จำเลยทราบเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 จำเลยไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ เพราะอยู่ในขณะที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผน โจทก์ได้แต่ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 ถึงมาตรา 90/33 เท่านั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิผู้อื่น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อมาตรา 90/12 มีข้อห้ามถึง 11 อนุมาตรา แต่ไม่มีอนุมาตราใดห้ามโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ และพนักงานตรวจแรงงานย่อมสามารถมีคำสั่งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการแล้วหรือไม่ก็ตาม กรณีไม่ต้องด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2545 ที่จำเลยอ้างเพราะคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานในขณะที่มูลเลิกจ้างตามฟ้องนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และมายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในมูลหนี้เดียวกันเท่านั้น ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผน อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยจึงยังอยู่ที่จำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานส่งคำสั่งให้แก่จำเลย จำเลยไม่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนด คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ครั้นต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อบังคับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ได้เพราะไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) อีกต่อไป และศาลแรงงานกลางก็สามารถถือตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดดังกล่าวแล้วได้โดยไม่ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงใหม่ดังที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยจึงต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน