แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในประเด็นว่าสัญญาเช่าที่พิพาทผูกพันโจทก์หรือไม่ จำเลยให้การและนำสืบว่าที่พิพาทอยู่ในความดูแลของกรมการศาสนา นายอำเภอพระพุทธบาทตัวแทนกรมการศาสนาทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่พิพาท แต่จำเลยฎีกาว่านายอำเภอพระพุทธบาทเป็นตัวแทนเชิดของวัดโจทก์ และได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ดังนี้ ฎีกาของจำเลยมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๓ โจทก์ได้ก่อสร้างโรงเจขึ้น กิจการของโรงเจมีรายได้จากผู้บริจาคปีละหลายแสนบาท ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ จำเลยได้สร้างโรงเจขึ้นในที่ดินของโจทก์โดยพลการให้ชื่อว่าโรงเจธรรมนิมิตรประสิทธิคุณ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรงเจของโจทก์ ได้พากันเข้าไปพักและอุทิศเงินบำรุงแก่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์อันควรมีควรได้ไป จึงขอให้ห้ามจำเลยและบริวารประกอบกิจการดังกล่าวในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่จำเลยปลูกโรงเจเป็นของจำเลยซื้อมาจากบุคคลอื่นหากเป็นของโจทก์ก็เป็นที่ดินอยู่นอกเขตกำแพงวัด (กำแพงแก้ว) ตกอยู่ในความดูแลของกรมการศาสนา และจำเลยได้ทำหนังสอืสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์แล้วโดยผ่านกรมการศาสนา ผู้ดูแลรักษา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สัญญาเช่าที่จำเลยทำสมบูรณ์ใช้ยันโจทก์ได้หรือไม่และค่าเสียหายเท่าใด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยลดจำนวนค่าเสียหายให้น้อยลง
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่าสัญญาเช่าที่พิพาทผูกพันโจทก์หรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่านายธวัช แผ่ความดี เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ และได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่พิพาท จึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการนั้น เห็นว่าจำเลยให้การและนำสืบว่า ที่พิพาทอยู่ในความดูแลของกรมการศาสนา นายธวัชนายอำเภอพระพุทธบาทตัวแทนกรมการศาสนาทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่พิพาทแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ เห็นได้ว่าข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน