คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 พนักงานเก็บของลางานอยู่เสมอเพราะเหตุเจ็บป่วยแล้วจำเลยที่ 3 ผู้ช่วยพนักงานเก็บของสามารถเข้าไปในห้องเก็บของได้นั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 3กระทำการแทนโดยตลอด การที่จำเลยที่ 2 ออกไปช่วยคนอื่นทำงานบ้างเล็กน้อย เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีงานของตนเองที่จะต้องทำนั้น ไม่ถือเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ และการที่จำเลยที่ 3 ลักลอบเอาทรัพย์ที่รับจำนำไปจากห้องเก็บของนั้นแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำโดยปกปิดมิให้ผู้อื่นโดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ทราบ แม้แต่ผู้ตรวจการซึ่งมา ตรวจ เป็นประจำก็ยังไม่ทราบ จนกระทั่งมีการร้องขอให้มีการตรวจเป็นพิเศษจึงทราบทั้งไม่มีระเบียบกำหนดให้พนักงานเก็บของต้องตรวจสิ่งของเป็นประจำทุกเดือนหรือในกำหนดเวลาเท่าใด ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำการทุจริตมาก่อน เช่นนี้พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สถานธนานุเคราะห์ 5 เป็นหน่วยงานของสำนักงานธนานุเคราะห์อยู่ในสังกัดของโจทก์ มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเก็บของรักษาทรัพย์จำนำจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยพนักงานเก็บของรักษาทรัพย์จำนำ จำเลยที่ 4เป็นเสมียน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาและจำนองที่ดินในกรุงเทพมหานครเป็นประกันการปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อโจทก์ ในวงเงิน 200,000 บาทจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจและประมาณราคาสิ่งของที่จำเลยที่ 1รับจำนำไว้ว่ามีค่าสมควรกับราคาที่รับจำนำไว้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าสูงเกินควรให้ทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษร และรายงานต่อผู้อำนวยการหรือผู้ตรวจการโดยด่วน รักษาทรัพย์จำนำโดยตรวจลักษณะ รายการและจำนวนสิ่งของที่เก็บรักษาไว้ให้ถูกต้องตามสำเนาตั๋วรับจำนำจ่ายสิ่งของตามตั๋วรับจำนำเมื่อมีการไถ่ถอน จัดทำทะเบียนรายการทรัพย์จำนำและไถ่ถอนไว้ให้ถูกต้องเป็นประจำวัน เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย ควบคุมดูแลรักษาและรับผิดชอบทรัพย์จำนำให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นปกติครบถ้วนมิให้เสียหายและสูญหาย เป็นกรรมการตรวจนับเงินคงเหลือประจำวันร่วมกับจำเลยที่ 1 และสมุห์บัญชีเป็นกรรมการเก็บรักษากุญแจประตูห้องนิรภัยร่วมกับจำเลยที่ 1ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่จำเลยที่ 1 จะได้สั่งการหรือมอบหมายและรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์สินที่รับจำนำร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสี่ได้กระทำผิดกฎหมาย ปฏิบัติงานในหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับที่โจทก์วางไว้ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4กับนายทองชุบ ดีมารยาตร์ เสมียน นายปัญญา วังศิลาบัตร พนักงานทะเบียนประจำสถานธนานุเคราะห์ 5 ได้ร่วมกันปลอมตั๋วจำนำว่ามีผู้นำทรัพย์มาจำนำโดยมิได้มีผู้ใดนำทรัพย์มาจำนำตามตั๋วจำนำนั้นแล้วเบิกเงินค่ารับจำนำจากงบประมาณค่ารับจำนำของสถานธนานุเคราะห์ 5ซึ่งอยู่ในความครอบครองของพวกตน แล้วเบียดบังเอาไปเป็นของพวกตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต รวม 534 ฉบับ เป็นเงินค่ารับจำนำ 3,057,200บาท แต่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการ จำเลยที่ 3 นำเงินค่ารับจำนำตามตั๋วจำนำ 8 ฉบับ มาคืนแก่โจทก์ 66,000 บาท เหลือเงินค่ารับจำนำที่โจทก์ยังไม่ได้รับคืน และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4จะต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสิ้น 2,991,200 บาท เงินจำนวนนี้จะต้องชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 5เดือน นับแต่วันที่ได้เบิกไปคือวันที่ระบุไว้ในตั๋วรับจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 รวมเป็นเงิน 186,950 บาทถัดจาก 5 เดือนนั้นแล้วจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 179,850.91 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสองรายการแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4จะต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 3,358,000.91 บาท ตามเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนต่าง ๆที่โจทก์วางไว้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังละทิ้งหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ไปทำงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่ ปล่อยปละละเลยงานในหน้าที่ของตนให้จำเลยที่ 3กระทำแทนโดยตลอด เป็นโอกาสให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 4 กับพวกปลอมตั๋วจำนำและใช้เบิกเอาเงินค่ารับจำนำไปได้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนหาตัวผู้ที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งและได้ทราบความเห็นของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 13ตุลาคม 2521 โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งเจ็ดแล้วก่อนฟ้อง ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 ได้นำเงินที่จะต้องรับผิดตามสัญญามาชำระให้โจทก์50,000 บาท โจทก์หักชำระค่าดอกเบี้ยแล้วคงเหลือยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดชดใช้อีกทั้งสิ้น3,308,000.91 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 5ที่ 6 ที่ 7 ร่วมรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาค้ำประกันพร้อมด้วยดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2นำมาจำนอง ถ้าขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกทายาทของจำเลยที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายธีระเดชเสรีโยธิน ผู้ปกครองทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้คดีมีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามมิได้ร่วมกันปลอมตั๋วรับจำนำ ตั๋วรับจำนำตามฟ้องมีผู้นำของมาจำนำจริงทุกฉบับ ของที่รับจำนำอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพนักงานเก็บของ หากขาดหายไปจำเลยทั้งสามก็ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ กับตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ของโจทก์ หรือละทิ้งหน้าที่ให้จำเลยที่ 3กระทำการแทน จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องระวังตรวจตราการปฏิบัติงานของผู้จัดการและพนักงานใด ๆ หน้าที่ดังกล่าวเป็นของผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสถานธนานุเคราะห์ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการสมคบกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และพนักงานอื่นปลอมตั๋วรับจำนำและเบิกเงินไปนั้นเป็นกรณีสุดวิสัยจำเลยที่ 2 จะใช้ความระมัดระวังอย่างไรก็ไม่อาจป้องกันได้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่มากดังฟ้อง โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างสูงไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์มีผู้ตรวจการไปตรวจต้นขั้วตั๋วรับจำนำสิ่งของและการเก็บของที่รับจำนำเป็นประจำสัปดาห์ละ2-3 ครั้ง จึงรู้หรือควรจะรู้การทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4นับแต่วันทำละเมิด โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ถึงการทำละเมิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งโจทก์ได้ตกลงผ่อนผันให้จำเลยที่ 3 หาเงินมาไถ่ถอนตั๋วรับจำนำปลอม เป็นการประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาท และจำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วยการไถ่ถอนตั๋วรับจำนำบางส่วนแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงระงับไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องรับผิดเกินวงเงินที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตนเองและสัญญาจำนองที่ทำกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนองกับทรัพย์สินที่จำนองเกินกว่าวงเงินตามสัญญาจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ยังไม่แน่นอนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 7 ชำระเงินแก่โจทก์20,000 บาท โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 3,194,525.91 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 จำนองชำระหนี้ ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 5และที่ 6
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ไปทำงานอื่น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ส่วนงานในหน้าที่ของตนปล่อยให้จำเลยที่ 3 กระทำแทนโดยตลอด เป็นโอกาสให้จำเลยที่ 3 สมคบกับพวกกระทำผิดดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ในปัญหาข้อนี้โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ออกระเบียบข้อบังคับให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานธนานุเคราะห์และพนักงานสถานธนานุเคราะห์ของโจทก์ปฏิบัติตามเอกสารหมาย จ.71 ในการจำนำ เมื่อผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการตรวจและตีราคาแล้วจะส่งของและแจ้งราคาที่ตกลงรับจำนำให้พนักงานทะเบียนและเสมียนเขียนตั๋วรับจำนำเพื่อลงทะเบียน เขียนการ์ดทะเบียนจำนำ ตั๋วรับจำนำ และจัดการให้ผู้จำนำพิมพ์ลายนิ้วมือในตั๋วรับจำนำ ถ้าเป็นของมีค่าจำพวกเพชรพลอย เครื่องทองรูปพรรณพนักงานทะเบียนจะบรรจุในซองพลาสติกใสพร้อมกับการ์ดจำนำ แล้วส่งคืนให้ผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการตรวจความถูกต้อง หลังจากผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการจ่ายเงินค่าจำนำให้ผู้จำนำแล้วจะมอบซองพลาสติกนั้นพร้อมสำเนาตั๋วรับจำนำให้พนักงานเก็บของหรือผู้ช่วยพนักงานเก็บของ เมื่อพนักงานเก็บของหรือผู้ช่วยพนักงานเก็บของตรวจสิ่งของ จัดการลงทะเบียนในสมุดเก็บของแล้วจะบรรจุสำเนาตั๋วรับจำนำลงซองปิดผนึกนำเข้าเก็บในตู้นิรภัยในห้องมั่นคงเมื่อมีการไถ่ถอนพนักงานเก็บของหรือผู้ช่วยพนักงานเก็บของจะนำซองดังกล่าวออกมาลงการไถ่ถอนในสมุดบัญชีเก็บของของตนแล้วมอบให้ผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการคืนของแก่ผู้ไถ่ถอน ตู้นิรภัยของสถานธนานุเคราะห์ 5 มีกุญแจ 2 ชุด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือคนละชุดเพื่อความสะดวกในการทำงาน และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3เพียงสองคนเท่านั้นที่เข้าออกห้องมั่นคงได้ เมื่อวันที่ 27มิถุนายน 2521 นางศาสตร์ ปิยะกาญจน์ ผู้ตรวจการสำนักงานธนานุเคราะห์ตรวจสุ่มพบว่ามีของจำนำหายไปจากซองเก็บของ 2 รายการ ในซองมีแต่สำเนาตั๋วรับจำนำและการ์ดทะเบียน จำเลยที่ 3 รับว่าบุตรของตนเป็นผู้จำนำของ 2 รายการนั้นตนได้นำของออกไปก่อนโดยยังมิได้ทำการไถ่ถอนตามระเบียบ และได้นำเงินมาชำระและไถ่ถอนจำนำของ2 รายการนั้นไปในตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ต่อมาต้นเดือนกรกฎาคม 2521จำเลยที่ 3 จะขอให้นางสาวสมบูรณ์สมุห์บัญชีออกใบเสร็จรับเงินค่าไถ่ถอนของในซองเก็บของซึ่งมีแต่ซองไม่มีของจำนำเช่นเดียวกันอีก นางสาวสมบูรณ์ไม่ยอมออกใบเสร็จให้จึงเกิดมีปากเสียงกันนางสุชาดา วินิจฉัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ทราบเหตุสงสัยว่าจะมีการทุจริตจึงสั่งให้นางลออศรี ศิลปไชย ผู้ตรวจการสำนักงานธนานุเคราะห์ไปตรวจสอบ นางลออศรีตรวจสอบอยู่ 3 วันพบว่าซองเก็บของในตู้นิรภัยถูกเปิดผนึกเอาของไปประมาณ 200 รายการในซองมีแต่การ์ดทะเบียนและสำเนาตั๋วรับจำนำ จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นผู้เอาของในซองทั้งหมดนั้นไป ต่อมานางสุชาดาได้ตั้งคณะกรรมการมีนายจิตร บุบผาคำ เป็นประธาน ไปทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งโดยให้ตรวจสอบย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 คณะกรรมการตรวจสอบพบว่าของหายไปจากซองเก็บของจำนำเช่นเดียวกันนั้นทั้งสิ้น534 รายการ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 3 นำเงินมาขอไถ่ถอนไป 8 รายการคงเหลือที่ยังมิได้ไถ่ถอน 526 รายการ คิดเป็นเงินค่ารับจำนำ2,991,200 บาท จำเลยที่ 3 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 ให้ผู้อื่นนำของมาจำนำ แล้วจำเลยที่ 3 คอยหาโอกาสลักลอบเอาของนั้นออกไปคณะกรรมการได้รับสำเนาตั๋วรับจำนำที่สามีจำเลยที่ 3 นำมามอบให้ตรงกับของที่ขาดหายไปนั้น 152 รายการ และตรวจพบว่าลายพิมพ์นิ้วมือในต้นขั้วตั๋วรับจำนำบางฉบับตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้นำของมาจำนำบางฉบับตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 4 นายทองชุบและนายปัญญาของที่ถูกนำมาเวียนจำนำซ้ำพบว่ามีอยู่ประมาณ 40 รายการ อธิบดีของโจทก์ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการรายงานผลการสอบสวนทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการรายงานผลการสอบสวนและความเห็นให้อธิบดีของโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2521
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ ห้องมั่นคงมีประตู 2 ชั้น กุญแจประตูชั้นในมีดอกเดียว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือ กุญแจประตูชั้นนอกและตู้นิรภัยมี 2 ชุด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือไว้คนละชุด เพื่อสะดวกในการทำงานจำเลยที่ 3 เข้าออกเพื่อนำของเข้าเก็บและนำของออกมาเมื่อมีการไถ่ถอนได้เช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 สถานธนานุเคราะห์ 5 มีประชาชนใช้บริการมาก พนักงานคนใดว่างก็จะต้องไปช่วยทำงานในหน้าที่ของพนักงานอื่น บางครั้งจำเลยที่ 2 ต้องไปช่วยสมุห์บัญชีเขียนใบเสร็จรับเงิน ทั้งนี้เพื่อบริการประชาชนให้ได้รับบริการโดยรวดเร็วไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบ จำเลยที่ 2 ไม่เคยถูกตำหนิติเตียนว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยของในตู้นิรภัยและห้องมั่นคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพชรพลอยเครื่องทองรูปพรรณที่ถูกลักลอบนำออกไปเป็นของชิ้นเล็ก ๆจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจทราบถึงการถูกลักลอบเอาออกไปนั้นได้
พิเคราะห์แล้ว ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ที่โจทก์วางไว้ มีความประมาทเลินเล่อละทิ้งหน้าที่ไปทำงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่ ปล่อยให้จำเลยที่ 3 กระทำแทนโดยตลอดนั้น คงได้ความตามคำเบิกความของนางสุชาดา วินิจฉัยกุลพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานธนานุเคราะห์ 5 ที่เกิดเหตุว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนขี้โรค ลางานอยู่เสมอ หากมีการลา ผู้ช่วยพนักงานเก็บของสามารถเข้าไปในห้องเก็บของได้ เห็นว่า พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 3 กระทำแทนโดยตลอดเพราะเป็นกรณีเจ็บป่วยของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุชั่วคราวข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ไปทำงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่ของตน ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนางลออศรี ศิลปไชยผู้ตรวจการสถานธนานุเคราะห์ว่า เห็นจำเลยที่ 2 ออกไปช่วยพนักงานคนอื่นทำงานบ้างเล็กน้อย เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 2ไม่มีงานของตัวเองที่จะต้องทำ และการไปช่วยงานดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ และข้อที่โจทก์ฎีกาอีกว่าจำเลยที่ 2ไม่ตรวจสิ่งของในห้องเก็บของปล่อยให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ช่วยพนักงานเก็บของลอบตัดช่องเอาของที่มีผู้จำนำไปเป็นจำนวนมากนั้นทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ช่วยพนักงานเก็บของลอบกระทำการดังกล่าว ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำการโดยปกปิดมิให้ผู้อื่นโดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำนั้นดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่ผู้ตรวจการซึ่งมาตรวจเป็นประจำก็ยังไม่ทราบจนกระทั่งมีการร้องขอให้มีการตรวจเป็นพิเศษจึงทราบ ประกอบกับได้ความจากนางลออศรีว่า ไม่มีระเบียบกำหนดไว้ว่าพนักงานเก็บของจะต้องตรวจสิ่งของเป็นประจำทุกเดือนหรือมีกำหนดระยะเวลาเท่าใด ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นญาติของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 มาปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจะกระทำการทุจริตมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีตามที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share