คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. ภาค 4

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,268,559.08 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 1,031,558.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทบริหารสินทรัพย์ มีวัตถุประสงค์ซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลย ผู้ร้องประสงค์ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่โจทก์หรือฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาจึงไม่มีสิทธิสวมสิทธิของโจทก์เพื่อบังคับคดีแทนโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในคดีนี้แทนโจทก์ได้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างจำเลยกับผู้ร้องให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้แล้วว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงิน ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ มีวัตถุประสงค์ในการซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องและแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้ร้องมิใช่ฝ่ายชนะคดี การเข้าสวมสิทธิตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว…และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีเช่นว่านี้ก็หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมาแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกาของจำเลยข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share