คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11331/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่า หากพยานบอกเล่ากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานบอกเล่าประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ว. แม้มิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นในการจัดทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แต่เป็นพนักงานของโจทก์ย่อมสามารถตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมรายนี้ได้ อันทำให้สามารถทราบที่มาที่ไปของหนี้สินรายนี้จนสามารถเบิกความให้ความกระจ่างในกรณีที่มีความคลุมเครือน่าสงสัยเกี่ยวกับหนี้สินรายนี้ได้ จึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชำระเงินจำนวน 177,547,050.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 59,425,952.21 บาท อัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 26,857 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1915 และ 3334 ตำบลพรเจริญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 3 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 26,985,889.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดแบบไม่ทบต้นปรับเปลี่ยนตามประกาศธนาคารของโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาตามที่โจทก์ขอ แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปถึงวันที่ 11 กันยายน 2543 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินเดียวกันนับถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ 12 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินตามหนี้เงินกู้ทั่วไปจำนวน 25,576,981.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงิน 23,254,221.45 บาท โดยปรับเปลี่ยนตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาตามที่โจทก์ขอ แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปถึงวันที่ 11 กันยายน 2543 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,254,221.45 บาท นับถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ 12 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินในหนี้ข้อตกลงเรื่องการกู้เงิน (วงเงินกู้หมุนเวียน) จำนวน 8,359,780.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาตามที่โจทก์ขอ แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 8,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไปถึงวันที่ 11 กันยายน 2543 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ 12 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินในหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 26,857 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ข้างต้นหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1915, 3334 ตำบลพรเจริญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 26,592,792.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดแบบไม่ทบต้นปรับเปลี่ยนตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาตามที่โจทก์ขอ แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปถึงวันที่ 11 กันยายน 2543 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ 12 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำนวนหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่า หากพยานบอกเล่ากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานบอกเล่าดังกล่าวนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ นายวิชาญพยานโจทก์แม้มิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นในการจัดทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แต่เป็นพนักงานของโจทก์ย่อมสามารถตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมรายนี้ได้ อันทำให้สามารถทราบที่มาที่ไปของหนี้สินรายนี้จนสามารถเบิกความให้ความกระจ่างในกรณีที่มีความคลุมเครือน่าสงสัยเกี่ยวกับหนี้สินรายนี้ได้ จึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเรียบร้อยแล้ว โดยดูจากการทำรายการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ในบัญชีกระแสรายวันเห็นว่ายอดเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้มียอดสูงถึง 28,171,730.76 บาท การโอนเงินที่มีจำนวนสูงถึงขนาดนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 น่าจะต้องมีหลักฐานการโอนเงินว่านำเงินจากแหล่งใดมาชำระหนี้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่แล้ว เพราะมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 คงไม่มีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อหลายประเภทจากโจทก์ ทั้งผู้ให้ความช่วยเหลือไม่น่าจะเป็นบุคคลธรรมดาเนื่องจากเป็นเงินจำนวนสูงมาก คงมีแต่ระดับสถาบันการเงินเท่านั้นที่จะช่วยเหลือเป็นเงินจำนวนสูงถึงขนาดนั้น ซึ่งต้องมีการติดต่อขอความช่วยเหลือกันก่อนหน้าที่จะมีการโอนเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงคงอาศัยแต่รายการในบัญชีกระแสรายวัน มาอ้างอิง ทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างถึงการที่โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองและออกหนังสือรับรองการชำระหนี้มาโยงเข้ากับการทำรายการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ในบัญชีกระแสรายวัน เมื่อพิจารณาวันที่มีการทำรายการในบัญชีกระแสรายวันกับวันที่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองและออกหนังสือรับรองการชำระหนี้ มีระยะเวลาห่างกันถึง 6 เดือน จึงไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งเมื่อมีการจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองที่ดินทั้งสองแปลงในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ในวันเดียวกันกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงกับโจทก์อีก หากหนี้สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับการชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงเป็นประกันอีก และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่เคยโต้แย้งว่าหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีการชำระเรียบร้อยแล้ว จากพยานหลักฐานดังกล่าวน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นการที่โจทก์ออกหนังสือรับรองการชำระหนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองที่แยกเป็นรายแปลง เพื่อจะดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงรวมกัน ดังที่พยานโจทก์เบิกความ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 10,000 บาท

Share