คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 ได้ใช้คำนิยามคำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 ดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน และศาลฎีกาเห็นสมควรให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและผู้ร้องในสำนวนหลังว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนหลังว่าจำเลย และเรียกนางสาวนาแก่อุย ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนหลังว่าผู้คัดค้านที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นธนบัตรจำนวน1,167,390 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 ชุด และรถยนต์กระบะ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ริบไว้แล้ว ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ด้วยมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของจำเลยเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลย และมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของนางสาวนาแก่อุยเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลย จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนางสาวนาแก่อุยด้วย จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน อาชีพ รายได้ของจำเลยพบว่าจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวนาแก่อุย มีทรัพย์สินจำนวน 24 รายการ ซึ่งคณะอนุกรรมการประจำคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
จำเลยและนางสาวนาแก่อุยผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 (ที่ถูก 72 วรรคหนึ่ง) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นเวลานานพอสมควร เป็นภัยต่อสังคม สมควรลงโทษสถานหนัก ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 20 ปี ฐานมีอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ จำเลยนำสืบรับว่ามีไว้ในครอบครองจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 20 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ส่วนทรัพย์สินตามคำร้องหรือตามเอกสารหมาย ป.จ.9 รวม 24 รายการให้ริบตกได้แก่กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
จำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนฯ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไว้ 6 เดือน เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ยกคำขอที่ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คืนแท่นปั๊ม 4 อัน น้ำกรดอะมิโน 2 ขวด น้ำเกลือ 1 ขวด สายน้ำเกลือ 4 ชุด กุญแจตู้นิรภัย 2 ลูก โฟนลิ้งค์ 1 เครื่อง เครื่องคิดเลข 1 เครื่อง สมุดบันทึก 2 เล่ม และกระเป๋า 1 ใบ ที่จำเลยไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดนี้แก่เจ้าของ ให้ยกคำร้องขอให้ริบทรัพย์ และคืนทรัพย์สินของกลางตามเอกสารหมาย ป.จ.9 แก่จำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 7 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ พยานโจทก์มีพันตำรวจโทสมชายผู้จับจำเลยเบิกความว่า ก่อนจับจำเลย เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2540 สืบทราบและสายลับมาแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่และลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านเกิดเหตุ ได้ให้จ่าสิบตำรวจบุญคล่องเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของจำเลยในวันเกิดเหตุ จ่าสิบตำรวจบุญคล่องแจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ทราบว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะกลับเข้าบ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน พันตำรวจโทสมชายแจ้งให้จ่าสิบตำรวจบุญคล่องทราบว่าหากจำเลยกลับเข้าบ้านอีกให้รายงานให้ทราบจนกระทั่งเวลา 12.30 นาฬิกา จ่าสิบตำรวจบุญคล่องใช้วิทยุสื่อสารแจ้งว่าจำเลยกลับเข้าบ้านแล้ว พันตำรวจโทสมชายกับพวกจึงไปบ้านจำเลย พบจำเลยกับชายอีก 2 คน ขอตรวจค้น พบของกลางประมาณ 20 รายการในการตรวจค้นครั้งนี้ได้ใช้สุนัขตำรวจดมกลิ่นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 7 เม็ด อยู่ใต้เสื่อน้ำมันในห้องนอนจำเลย จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย ป.จ.14 เห็นว่า ในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจจับจำลยไม่ปรากฏว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ใด ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 7 เม็ด มีน้ำหนัก 0.61 กรัม มิได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แม้จำเลยจะให้การรรับสารภาพในชั้นสอบสวนในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ก็ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของโจทก์ขอให้ริบทรัพย์สินตามคำร้องเอกสารหมาย ป.จ.9 รวม 24 รายการ ให้ตกได้แก่กองทุนป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2543 มาตรา 29, 31 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ใช้คำนิยามคำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่าการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share