คำวินิจฉัยที่ 20/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๒

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดปากพนัง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปากพนังโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง
เขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ นางสาวอุ่นใจ หนูแดง โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร ที่ ๑ นายสุทัศน์ พูลเสน ที่ ๒ นายสมมารถ ปราดจัน ที่ ๓ นายวิเชียร ชุมนุ่น ที่ ๔ นายเสียน เสนปาน ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดปากพนัง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๘๑/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๙๙ เลขที่ดิน ๑๘๘ ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๓ ตารางวา เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทรและในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทรและในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันกระทำละเมิดบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขุดดินให้เป็นลำเหมืองและทำถนนในที่ดินของโจทก์บริเวณทางด้านทิศใต้และทางทิศตะวันออก คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๔๕.๓ ตารางวา โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหัวไทรให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ในข้อหาร่วมกันรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ขณะยื่นฟ้องอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งห้าร่วมกันเจรจาไกล่เกลี่ยตามโครงการไกล่เกลี่ยของสถานีตำรวจภูธรหัวไทร จำเลยทั้งห้ารับว่า กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจริงและรับจะดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แต่เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าเข้าไปขุดดินเป็นลำเหมืองและทำเป็นถนนในที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้และทิศตะวันออกจริง แต่ก่อนเข้าดำเนินการ โจทก์ได้อุทิศที่ดินบริเวณดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยทั้งห้าดำเนินการก่อสร้างตามโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งห้ากระทำการตามอำนาจหน้าที่มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดปากพนังเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งห้าแสดงว่า คู่กรณียังโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ ๑ อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นของโจทก์หรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ มาตรา ๑๓๐๔ มาตรา ๑๓๐๕ และมาตรา ๑๓๐๘ ทั้งนี้มาตรา ๑๒๙๘ ยังกำหนดให้การพิจารณาสิทธิในที่ดินนอกจากจะอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน ตลอดจนพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลย เพื่อจัดทำบริการสาธารณะในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก โดยการขุดเหมืองส่งน้ำและก่อสร้างถนน ตามมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ ประกอบมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และประเด็นข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การรับกันแล้วว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่มีประเด็นในคดีนี้ที่จะต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้อุทิศที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าย่อมไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอว่า จำเลยทั้งห้าบุกรุกเข้าไปขุดดินในที่พิพาทให้เป็นลำเหมืองและทำเป็นถนนอันเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง ทำให้โจทก์เสียหาย และขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มิใช่คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนประเด็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาลักษณะของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการหนึ่งนั้นเป็นประเด็นที่จะต้องไปพิจารณาในเนื้อหาของคดีต่อไป คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำละเมิดบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขุดดินให้เป็นลำเหมืองและทำถนนในที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์และจำเลยทั้งห้าร่วมกันเจรจาไกล่เกลี่ยตามโครงการไกล่เกลี่ยของสถานีตำรวจภูธรหัวไทร จำเลยทั้งห้ารับว่า กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจริงและรับจะดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าเข้าไปขุดดินเป็นลำเหมืองและทำเป็นถนนในที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้และทิศตะวันออกจริง แต่ก่อนเข้าดำเนินการ โจทก์ได้อุทิศที่ดินบริเวณดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยทั้งห้าดำเนินการก่อสร้างตามโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งห้ากระทำการตามอำนาจหน้าที่มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวอุ่นใจ หนูแดง โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร ที่ ๑ นายสุทัศน์ พูลเสน ที่ ๒ นายสมมารถ ปราดจัน ที่ ๓ นายวิเชียร ชุมนุ่น ที่ ๔ นายเสียน เสนปาน ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share