แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๕๒
วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นางอุไรวรรณ พรหมจรรยา ที่ ๑ นายสมทรง กล้วยสูงเนิน ที่ ๒ นายวิชัย มาสูงเนิน ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมป่าไม้ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๔๑/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย ร่วมกันเข้าจับกุมผู้ต้องหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และยึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้แก่ ไม้พยุงแปรรูป จำนวน ๑๗๕ เหลี่ยม ไม้พยุงท่อน จำนวน ๓๖ ท่อน ของโจทก์ที่ ๑ รถยนต์บรรทุกหกล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีฟ้า หมายเลขทะเบียน ๘๕-๐๔๙๕ นครราชสีมา ของโจทก์ที่ ๒ และรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน ผก ๖๖๕๘ นครราชสีมา ของโจทก์ที่ ๓ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มอบของกลางดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยเก็บรักษาไว้แทน และส่งสำนวนการสอบสวนความอาญาคดีที่ ๑๒๗/๒๕๕๐ ระหว่าง นายดาบตำรวจ สุรนิตย์ อุ่นวิเชียร ผู้เสียหาย นางอุไรวรรณ พรหมจรรยา ผู้ต้องหาที่ ๑ นายวิชัย มาสูงเนิน ผู้ต้องหาที่ ๒ นายประยงค์ เพ็ชรสูงเนิน ผู้ต้องหาที่ ๓ และนายบุญรอด สุลาโท ผู้ต้องหาที่ ๔ เรื่องร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร ไปยังพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้ว สำนักงานอัยการเขต ๓ เพื่อสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนางอุไรวรรณกับพวก และมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จึงมีหนังสือแจ้งให้นายทาร์ซาน ชาลีวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ นม.๑๐ (วะภูแก้ว) คืนของกลาง แต่นายทาร์ซานและนายภิญโญ ผลเจริญ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย กลั่นแกล้งไม่ส่งมอบไม้ของกลางคืนให้โจทก์ที่ ๑ ทั้งยังละเลยไม่เก็บไม้ของกลางไว้ในสถานที่อันสมควร และการส่งมอบรถยนต์ของกลางคืนให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นไปโดยล่าช้า และรถยนต์ของกลางได้รับความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษาของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย การกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัด ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ คิดเป็นค่าเสียหายกรณีโจทก์ที่ ๑ ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จ ซึ่งมีเนื้อข่าวจากการสอบสวนว่า โจทก์ที่ ๑ อยู่ในขบวนการลักลอบตนไม้พยุงเถื่อนส่งขายประเทศจีน ค่าเสียหายกรณีไม้ของกลางได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยกลั่นแกล้งไม่ส่งมอบไม้ของกลางคืน และละเลยไม่เก็บไม้ของกลางไว้ในสถานที่อันสมควร ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ที่ ๑ ต้องถูกปรับเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขาย ไม่อาจส่งมอบไม้ดังกล่าวได้ตามสัญญา และค่าเสียหายเป็นค่าขนส่งไม้ของกลางรวมทั้งค่าแรงคนงานขนไม้ไปยังสำนักงานหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ นม.๑๐ (วะภูแก้ว) ตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน ๑,๖๙๒,๒๐๐ บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ คิดเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ของกลางที่ได้รับความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษาของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย และค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการนำรถยนต์ไปใช้ในการประกอบอาชีพรับจ้างขนของให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รวมเป็นเงินจำนวน ๔๑๗,๔๘๐ บาท และ ๒๕๔,๑๗๐ บาท ตามลำดับ รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินจำนวน ๒,๕๓๙,๑๙๕.๘๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น และให้จำเลยส่งมอบไม้ของกลางทั้งหมดคืนให้แก่โจทก์ที่ ๑ อนึ่ง โจทก์ที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องนายทาร์ซาน ชาลีวงศ์ ที่ ๑ นายภิญโญ ผลเจริญ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๓๘๙/๒๕๕๐ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม เนื่องจากจำเลยส่งมอบรถยนต์ของกลางคืนให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ส่วนไม้ของกลางที่จำเลยไม่ส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ที่ ๑ เนื่องจากจำเลยเห็นว่าไม้ของกลางน่าเชื่อว่าเป็นไม้ที่ผิดกฎหมาย จึงไม่อาจคืนให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดให้จัดการของกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ได้ ประกอบกับเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐ โจทก์ที่ ๑ ถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยจับกุมพร้อมยึดไม้ผิดกฎหมายเป็นของกลางดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจำเลยได้ส่งเอกสารรายงานผลการตรวจพิสูจน์ไม้ของกลางคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสูงเนินเพื่อให้ดำเนินคดีกับโจทก์ที่ ๑ แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยึดไม้และรถยนต์ของกลางไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี และใช้ดุลพินิจไม่ส่งคืนของกลางให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่มีหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยึดไว้ในความผิดอาญาตามที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ กำหนด แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่คืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งที่ไม่มีอำนาจยึดไว้แล้ว ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากกรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี เผยแพร่ข่าวโดยอ้างถึงข้อเท็จจริงการสอบสวนคดีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวอันเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์ที่ ๑ เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ดำเนินการส่งมอบไม้ของกลางแก่โจทก์ที่ ๑ ภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกคนและจัดการเกี่ยวกับไม้ของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ทั้งยังละเลยไม่เก็บไม้ของกลางไว้ในสถานที่ อันสมควร จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางอุไรวรรณ พรหมจรรยา ที่ ๑ นายสมทรง กล้วยสูงเนิน ที่ ๒ นายวิชัย มาสูงเนิน ที่ ๓ โจทก์ กรมป่าไม้ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ