แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บิดาจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีนี้ออกจากที่ดินศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่โจทก์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2514โจทก์ร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องและสั่งว่า ถ้าโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ ให้นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายใน 20 วันนับแต่วันอ่านคำสั่งคือวันที่ 31 มีนาคม 2515 โจทก์ไม่นำค่าธรรมเนียมมาวาง คดีแพ่งจึงถึงที่สุดในวันที่ 20 เมษายน 2515 ตามมาตรา 147 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหาใช่ถึงที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2514 ไม่
แม้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้โจทก์ออกจากที่พิพาทภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับคือภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2514 ก็ตามแต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับด้วยและศาลอุทธรณ์ยังสั่งคำร้องไม่ได้ เพราะโจทก์ยังไม่เสียค่าธรรมเนียมอุทธรณ์จนกระทั่งคดีถึงที่สุด จึงต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2514 ซึ่งเป็นวันที่คดีถึงที่สุดเป็นการครอบครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 หาใช่เป็นการครอบครองโดยละเมิดไม่
เมื่อจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของโจทก์ภายในวันที่ 20 เมษายน 2515 อันเป็นวันสุดท้ายที่ถือว่าโจทก์ครอบครองห้องพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของบิดาจำเลยโดยชอบ คดีโจทก์จึงมีมูลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
จำเลยที่ 3 กล่าวแก่บุตรของบริวารโจทก์ว่า ออกไปเสียเถอะหนู อยู่ไปจะลำบากดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเข้าไปขู่เข็ญขับไล่บริวารโจทก์ให้ออกไปจากห้องแถวของโจทก์ ตีไม้ขวางบานประตูทางเข้าออก และใส่กุญแจปิดประตูทางเข้าออก เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362 และ 364
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ส่วนจำเลยที่ 3 เพียงแต่พูดให้บริวารโจทก์ออกจากห้องเช่าเท่านั้นไม่เป็นความผิด และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลได้พิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากห้องพิพาท คดีถึงที่สุดวันที่ 13 ตุลาคม 2514 การครอบครองของโจทก์หลังจากนั้นเป็นการครอบครองโดยปราศจากสิทธิ จึงเป็นการครอบครองโดยละเมิด จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2514 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีแพ่งซึ่งนายยิ้มบิดาจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของนายยิ้ม โจทก์ได้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา และสั่งว่าถ้าโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ก็ให้โจทก์นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายใน 20 วัน นับแต่วันอ่านคำสั่ง คือวันที่ 31 มีนาคม 2515 ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำค่าธรรมเนียมมาวางศาล คดีแพ่งจึงถึงที่สุดในวันที่ 20 เมษายน 2515 ตามมาตรา 147 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อนึ่ง แม้ว่าศาลชั้นต้นจะได้ออกคำบังคับให้โจทก์ออกจากที่พิพาทภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับคือภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2514 ก็ตามแต่โจทก์ก็ยังได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์อยู่และศาลอุทธรณ์ก็ยังสั่งคำร้องเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะโจทก์ยังไม่อุทธรณ์จนกระทั่งคดีถึงที่สุด จึงยังต้องถือว่าโจทก์ยังมีสิทธิครอบครองที่พิพาทอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายหลังจากที่ศาลได้พิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาทจนกระทั่งถึงวันที่ 20 เมษายน 2515การครอบครองที่พิพาทของโจทก์ดังกล่าวเป็นการครอบครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีแพ่งถึงที่สุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2514 และการครอบครองของโจทก์หลังจากวันนั้นเป็นการครอบครองโดยละเมิดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมกระทำการอันโจทก์อ้างว่าเป็นความผิด แม้จะมีการอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การครอบครองห้องพิพาทของโจทก์เป็นการละเมิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกและเมื่อศาลไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องถือว่าสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงยุติแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกล่าวคือจำเลยทั้งสองมิได้กระทำการอันเป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ได้กล่าวแก่บุตรของบริวารโจทก์ว่า ออกไปเสียเถอะ หนูอยู่ไปจะลำบาก ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 คดีจึงไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 3
ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องพอฟังได้ในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของโจทก์ภายในวันที่ 20 เมษายน 2515 ดังที่โจทก์กล่าวหา คดีของโจทก์มีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 และเฉพาะในความผิดตามมาตรา 362 ประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า คดีของโจทก์มีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์