คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ขุดคูพิพาทเป็นที่ดินที่ถูกเวนคืนมาเป็นของรัฐบาลเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินการสร้างทางหลวงบนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นเพื่อประโยชน์การจราจรสาธารณะทางบกได้ ซึ่งรวมถึงการทำรางระบายน้ำ รองน้ำ กำแพงกั้นดิน ฯลฯ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2482 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 มาตรา 3 แม้การขุดคูของจำเลยทั้งสามขวางหน้าที่ดินโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้ความสะดวกที่จะใช้ถนนแต่สิทธิในการใช้ถนนกับความไม่สะดวกในการใช้ถนนเป็นคนละอย่าง คนละเรื่องกัน หากโจทก์ขัดข้องไม่ได้ความสะดวกเกี่ยวกับการใช้อย่างไรก็ชอบที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2482 เมื่อจำเลยไม่เคยหวงห้ามโจทก์มิให้ใช้ถนน และการขุดคูก็ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่งานทางหลวงเพราะเป็นความจำเป็นเพื่อทดแทนทางน้ำเดิมที่สูญไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการใช้ถนนหลวง และไม่ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1337 โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยกลบคูคลองที่จำเลยขุดขึ้นไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๓ กับพวกได้เข้าขุดดินเพื่อจะทำคูคลองบนที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกจำเลยที่ ๑ เวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายกรุงเทพฯ – ตราด โจทก์ห้ามไม่เชื่อ จึงร้องต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ สั่งระงับ ต่อมาวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๓ กับพวกได้เข้าขุดดินตรงนั้นอีก โดยขุดชิดแนวดินของโจทก์ที่เหลือไม่เว้นระยะตามกฎหมายทำให้ดินของโจทก์พังลง โจทก์ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยที่ ๓ ไปสอบ จำเลยที่ ๓ อ้างว่าได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๑ สอบถามจำเลยที่ ๑ ก็ยืนยันว่าจำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำร้องขอขุด จำเลยที่ ๑ เห็นว่าจำเลยที่ ๓ เดือดร้อนจึงสั่งให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำการขุด ครั้นวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกันสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ ๒ ทำการขุดคูทางน้ำบนที่ดินที่ได้เวนคืนจากโจทก์ตามแนวที่จำเลยที่ ๓ เคยขุดไว้ตลอดหน้าที่ดินของโจทก์และได้ขุดไปจนเสร็จ การกระทำของจำเลยทั้งสามอาจเป็นอันตรายแห่งความมั่นคงของที่ดินโจทก์ ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ ๑ ยังได้ทำการเกินขอบเขตของกฎหมาย โดยทำการขุดคูคลองขวางหน้าที่ดินที่ติดต่อกับถนนหลวงตลอดแนวเช่นนี้ ถือว่าเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าออกสู่ถนนหลวงในที่ตรงนั้น โจทก์ต้องเสียสิทธิและถูกทำลายสิทธิในการที่จะใช้เข้าออกทั้งความประสงค์ของการเวนคืนมิใช่เพื่อทำคลองหรือทางน้ำ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ ๓ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยกลบคูคลองที่จำเลยทั้งสามขุดทำที่ดินให้คืนสภาพเดิม ห้ามทำการขุดคูคลองขัดขวางในการที่โจทก์จะใช้สัญจรเข้าออกสู่ทางหลวงต่อไปด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนเวนคืนที่ดินของจำเลยที่ ๓ และที่ดินใกล้เคียงไม่เคยมีทางสาธารณะผ่าน ไม่สามารถนำรถยนต์แล่นเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ระหว่างสร้างทางยังไม่เสร็จ มีความจำเป็นต้องปิดทางน้ำที่เป็นคูแยกจากคลองบ้านระกาศจนน้ำไหลเข้าออกไม่ได้ จำเลยที่ ๓ ร้องเรียนว่าเดือดร้อนจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อทำนา จำเลยที่ ๑ จึงสั่งให้ขุดคูเป็นทางระบายน้ำแทนโดยไม่ได้ขุดในที่ดินของโจทก์หรือชิดที่ดินของโจทก์แต่อย่างใดไม่ปรากฏว่าดินที่ชิดแนวเขตเสียหายพังลง การขุดคูเป็นการจำเป็นในการก่อสร้าง ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใดเจ้าของที่ดินที่ทางหลวงสายนี้ผ่านย่อมมีสิทธิเต็มที่ที่จะใช้ทางได้ โจทก์ชอบที่จะขออนุญาตจำเลยที่ ๑ ทำถนนหรือสะพานแยกจากทางหลวงเข้าที่ดินของโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำถนนหรือถมดินฝังท่อ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ขุดในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าไม่เคยขุดคูคลองในที่ดินของโจทก์ ไม่เคยขัดขวางมิให้โจทก์เข้าออกสู่ทางหลวง จำเลยที่ ๑ อนุญาตให้ขุดลอกทางน้ำใช้ชั่วคราวได้ โจทก์มิได้ใช้ทางนี้เข้าออกสู่ทางหลวง จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ ๑ มีสิทธิทีจะขุดคูในที่ดินที่เวนคืนเพื่อประโยชน์อันเกี่ยวกับการสร้างทางได้ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแต่เนื่องจากการขุดคูเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๒ โดยจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันก่อให้เกิดขึ้น จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันกลบคูพิพาทโดยให้คูค้านที่อยู่ชิดเขตที่ดินห่างจากแนวเขตทางหลวงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนลึกของคู
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหาว่า การขุดคูของจำเลยขวางหน้าที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ออกสู่ถนนหลวงโดยสะดวก ถือได้หรือไม่ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการใช้อันจำเลยทั้งสามต้องรับผิด
ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๗๒ ตำบลบ้านระกาด อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นของโจทก์ ต่อมาที่ดินแปลงนี้บางส่วนถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ – ตราด กรรมสิทธิ์ตกมาเป็นของรัฐแล้วเดิมที่นาจำเลยที่ ๓ จดคลองบ้านระกาดบางส่วน ส่วนที่จดคลองอยู่ทางทิศใต้ของถนนสายกรุงเทพฯ – ตราด ที่จะสร้างขึ้น แต่ก่อน ๆ จำเลยที่ ๓ เอาน้ำจากคลองบางระกาดไปใช้ในการทำนา โดยมีลำรางต่อจากคลองบางระกาดทางทิศใต้ไปสู่นาจำเลยที่ ๓ ทางด้านทิศตะวันตก ต่อมาทางราชการได้ทำถนนสายดังกล่าวผ่านนาของจำเลยที่ ๓ ทับทางน้ำแบ่งที่นาของจำเลยที่ ๓ เป็นสองแปลง แปลงหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ อีกแปลงหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ ทำให้จำเลยที่ ๓ เอาน้ำไปใช้ทำนาในที่แปลงเหนือไม่ได้ ส่วนแปลงทางทิศใต้จำเลยที่ ๓ ใช้ปลูกบ้าน เมื่อทำนาไม่ได้จำเลยที่ ๓ จึงทำคำร้องยื่นต่ออำเภอบางบ่อทางอำเภอมีหนังสือไปถึงนายช่างก่อสร้างทาง นายช่างก่อสร้างทางอนุญาตให้จำเลยที่ ๓ ขุดทางน้ำจากลำคลองบ้านระกาดผ่านที่เวนคืนเลาะไปตามถนนด้านทิศเหนือเป็นระยะทาง ๔ วา ได้เป็นการชั่วคราว จำเลยที่ ๓ ได้ขุดคูกว้าง ๑ เมตร แต่ทางน้ำที่ขุดนั้นยังไม่ถึงที่นาจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงขุดรางน้ำต่อไปอีก ๘ วาเศษจึงถึงที่นาจำเลยที่ ๓ ปีนั้นจำเลยที่ ๓ ทำนาได้แต่ถึงฤดูเก็บเกี่ยวเอาเรือเข้าไปเก็บเกี่ยวไม่ได้ จำเลยที่ ๓ จึงยื่นคำร้องต่อกรมทางหลวงจำเลยที่ ๑ เพื่อให้ทางการขุดทางน้ำต่อจากที่จำเลยที่ ๓ ขุดไว้ไปจนถึงที่นาของจำเลยที่ ๓ กรมทางหลวงจำเลยที่ ๑ จึงสั่งให้จำเลยที่ ๒ มาขุดต่อจากที่จำเลยที่ ๓ ขุดไว้เดิมจนถึงที่นาจำเลยที่ ๓ เป็นคูพิพาทยาวประมาณ ๓๐ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตรครึ่ง อยู่ห่างหลักเขตทางหลวงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑ เมตรครึ่ง และคูพิพาทที่ขุดอยู่หน้าที่ดินโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินที่ขุดคูพิพาทเป็นที่ดินที่ถูกเวนคืนมาเป็นของรัฐเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ – ตราดแล้ว กรมทางหลวงจำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินการสร้างทางหลวงบนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นเพื่อประโยชน์การจราจรสาธารณะทางบกได้ ทั้งนี้รวมถึงการทำรางระบายน้ำ ร่องน้ำ กำแพงกั้นดิน ฯลฯ ดังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ส่วนการขุดคูของจำเลยทั้งสามขวางหน้าที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์เข้าออกไม่สะดวก จะถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการใช้ถนนหลวงและจะขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่นั้น เห็นว่าสิทธิในการใช้กับความไม่สะดวกในการใช้ถนนเป็นคนละอย่างและคนละเรื่องกัน คดีนี้จำเลยไม่หวงห้ามโจทก์มิให้ใช้ถนน หากแต่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ได้รับความสะดวกที่จะใช้ถนนเพราะมีทางน้ำที่จำเลยขุดไว้ขวางทางเข้าออกสู่ถนนเท่านั้น ทั้งเห็นว่าการขุดคูครั้งนี้ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่งานทางหลวงเพราะทางราชการได้ทำถนนสายดังกล่าวผ่านนาของจำเลยที่ ๓ ทับทางน้ำที่จำเลยที่ ๓ เคยใช้อยู่ การขุดคูดังกล่าวเป็นความจำเป็นเพื่อทดแทนทางน้ำเดิมที่สูญไป เมื่อโจทก์ขัดข้องไม่ได้รับความสะดวกเกี่ยวกับการใช้อย่างไรก็น่าที่โจทก์จะต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดประสงค์จะทำทางในเขตทางหลวงเพื่อเชื่อมกับที่ดินริมเขตทางหลวง ให้ขออนุญาตต่อผู้อำนวยการทางหลวง แต่ผู้อำนวยการทางหลวงจะอนุญาตให้ผู้นั้นทำทางได้ เมื่อการทำนั้นไม่ขัดต่อข้อบังคับที่อธิบดีกรมโยธาเทศบาลได้กำหนดไว้ตามมาตรา ๒๑” ทั้งการกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๗ อีกด้วย ดังนี้โจทก์จึงไม่มีทางจะฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยกลบคูคลองที่จำเลยทั้งสามขุดชิดเขตที่ดินของโจทก์เสียทั้งสิ้นและ ให้ทำที่ดินให้คืนสภาพเดิม หรือห้ามขุดคูคลองดังคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share