คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากวันชี้สองสถานว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเสียก่อนตามเงื่อนไขในสัญญาว่าจ้างที่ตกลงกันไว้กับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้ศาลชอบที่จะรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาว่าจ้างขอให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าจ้าง และค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน16,576,052.19 บาท จำเลยทั้งสามให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมขาดอายุความและสัญญาว่าจ้างไม่มีผลใช้บังคับเพราะยังมิได้ตกลงจำนวนค่าจ้าง
คดีอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสามแล้วมีคำสั่งว่า คำร้องข้อ ก. และข้อ ข. เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และยื่นภายหลังชี้สองสถานแล้ว จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสาม แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสามเป็นข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันศาลชอบที่จะรับไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นใจความว่า (ก) ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 ข้อสัญญาในบทที่ 9 ข้อ 9.1 ว่า หากเกิดข้อเรียกร้อง ข้อผิดพลาดและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาอันเกิดจากหรือเกี่ยวกับสัญญานี้ให้นำคดีไปสู่อนุญาโตตุลาการ ตามกฎอนุญาโตตุลาการอุตสาหกรรมก่อสร้างของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกาก่อนนำคดีมาสู่ศาล โดยข้อสัญญานี้ยังกำหนดให้คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและให้ฟ้องร้องบังคับยังศาลสถิตย์ยุติธรรมตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โจทก์นำคดีมาสู่ศาลโดยไม่ปรากฏว่า ได้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดก่อน และ/หรือโจทก์ได้เคยเสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการต่อจำเลยให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งสัญญา อำนาจฟ้องของโจทก์จึงยังไม่เกิดโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ อนึ่ง ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาต่างก็เป็นภาคีร่วมแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งกระทำขึ้น ณกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2501ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2502 ข้อที่ให้มีอนุญาโตตุลาการตามสัญญารายพิพาทจึงบังคับได้และศาลไทยเคยยอมรับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว (ข) นอกจากนี้จากคำนายอัคคาไธเรนพยานโจทก์และกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เบิกความต่อศาลไว้ว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นเรื่องราวต่ออนุญาโตตุลาการก่อสร้างของอนุญาโตตุลาการอเมริกัน ให้วินิจฉัยชี้ขาด 2-3 ปี ก่อนฟ้องจึงขอต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยเหตุในมูลคดีเดิมเพราะถ้าโจทก์นำข้อพิพาทไปสู่อนุญาโตตุลาการตามที่โจทก์ยืนยันแล้วตามข้อกำหนดในเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 บทที่ 9 ข้อ 9.1 กำหนดให้โจทก์นำคดีไปสู่ศาลพิจารณาพิพากษาคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแต่โจทก์มิได้กระทำดังกล่าว ทั้งฟ้องโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าให้บังคับตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โจทก์กลับฟ้องโดยอาศัยมูลคดีเดิม จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาเป็นที่สุด เช่นนี้เห็นว่า ข้อที่จำเลยทั้งสามขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามจะได้ยื่นคำร้องภายหลังจากวันชี้สองสถาน ศาลก็ชอบที่จะรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป…”
พิพากษายืน.

Share