แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของจำเลยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยต่อไป แต่ทั้งนี้ให้รอไว้ 90 วันนับแต่วันที่คู่กรณีได้รับสำเนาคำวินิจฉัยตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 นั้น เป็นคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 จึงอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2529แต่มายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 10 เมษายน 2530 จึงเกินกำหนดอำนาจ ในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 22 สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มิใช่อายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นแม้ศาลแพ่งจะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ไม่อย่างไรก็ดี แม้ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งศาลจะมีอำนาจขยายระยะเวลานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่โจทก์จะนำคำสั่งอนุญาตของศาลแพ่งดังกล่าวมาใช้กับศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่ได้เพราะเป็นคนละศาลกัน ทั้งคำสั่งอนุญาตนั้นก็มิได้อาศัย มาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การฟ้องคดีโดยใช้สิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้ว ส่วนการแย่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้มีการจดทะเบียนหาใช่เรื่องใช้สิทธิตามมาตราดังกล่าวไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า “AZZARO” ซึ่งใช้กับสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกายและเครื่องหอม โจทก์ได้ดำเนินการขอจดทะเบียนในประเทศไทย ตามคำขอเลขที่ 155838 แต่ไปติดคำขอเลขที่ 148781ของจำเลย โจทก์ได้คัดค้านคำขอจดทะเบียนของจำเลย แต่นายทะเบียนเห็นว่าจำเลยยื่นคำขอก่อน จึงได้ยกคำคัดค้านของโจทก์ให้โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์หรือยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 90 วัน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิใช้และจดทะเบียน การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปทำการถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 148781 หรือตัดคำว่า “AZZARO”ออกจากคำขอดังกล่าวของจำเลย หากจำเลยมิยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้และถอนคำขอจดทะเบียนหรือตัดเครื่องหมายการค้าคำว่า”AZZARO” ออกจากคำขอดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า “AZZARO” อยู่ในรูปแคปซูลใช้กับสินค้าจำพวก 38 รายการสินค้าจำพวกเสื้อเชิ้ตได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2528โจทก์คัดค้านคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้ว แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยแล้วยกคำคัดค้านและให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลภายหลังกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 22 คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดเก้าสิบวันสิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงระงับลงตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 22 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้สิ้นไปแล้วหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้องแล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวซึ่งมีข้อความว่า”นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำคัดค้าน คำโต้แย้งและหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่า ฯลฯ การที่ผู้คัดค้าน (โจทก์)อ้างว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “AZZARO” เป็นเครื่องหมายการค้าของลอรีซ อัซซาโร เอส.เอ และเป็นชื่อส่วนหนึ่งของบริษัทดังกล่าว อีกทั้งได้มีการใช้เครื่องหมายกับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายจนเป็นที่แพร่หลาย รวมตลอดทั้งได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศแบบทั่วโลกนั้นก็ไม่สามารถรับฟังได้เพราะผู้คัดค้านมิได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นเป็นที่ประจักษ์ตามที่กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน (จำเลย) ไม่เป็นที่ขัดแย้งกับเครื่องหมายการค้าของผู้ใด จึงชอบที่จะรับจดทะเบียนได้” และในตอนท้ายว่า”ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน (ของโจทก์)และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 148781ต่อไป แต่ทั้งนี้ให้รอไว้เก้าสิบวันนับแต่วันที่คู่กรณีได้รับสำเนาคำวินิจฉัยนี้ตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504″ เป็นคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ทำการวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์ กรณีเช่นนี้จึงอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน มิฉะนั้นจะเป็นอันสิ้นสิทธิไป เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2529 แต่มายื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 10 เมษายน 2530 จึงเกินกำหนดเวลาเก้าสิบวัน อำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 22
ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งมาก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาศาลแพ่งได้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 นั้น เห็นว่า สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มิใช่อายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งดังนั้น แม่ศาลแพ่งจะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ไม่ อย่างไรก็ดี แม้ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งนี้ ศาลจะมีอำนาจขยายระยะเวลานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ก็ตาม แต่โจทก์จะนำคำสั่งอนุญาตของศาลแพ่งมาใช้กับศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นคนละศาลกัน ทั้งคำสั่งอนุญาตดังกล่าวก็มิได้อาศัยบทบัญญัติ มาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด
ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การฟ้องคดีโดยใช้สิทธิตามมาตรา 41(1) ดังกล่าว เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้ว มิใช่เป็นการแย่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้มีการจดทะเบียนดังเช่นกรณีของโจทก์ โจทก์จะอ้างว่าคดีโจทก์เป็นเรื่องใช้สิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ไม่ได้”
พิพากษายืน