คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคล และการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า “ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท มิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า “ผู้จัดการ” หรือ “ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ไว้ จึงต้องนำ ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงโดยในบริษัทจำกัด “ผู้จัดการ” หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้นจึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัท ส. บริษัท ท. บริษัท ม. บริษัท ป. บริษัท จ. และบริษัท ว. ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด อ. แทนบริษัทได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมครั้งที่ 7/2545 ครั้งที่ 8/2546 และครั้งที่ 9/2547 ของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าประเด็นข้อพิพาทเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดที่แต่งตั้งนิติบุคคลให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ แล้วพิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดเอสวี ซิตี้ นิติบุคคล อาคารชุดเอสวี ซิตี้ จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแต่งตั้งกรรมการควบคุมการจัดการอาคารชุดและมอบหมายให้นิติบุคคลเป็นกรรมการดังนี้ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 7/2545 แต่งตั้งให้บริษัทสหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมอบหมายให้นางมัณฑณาเป็นกรรมการแทนและบริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นาย
ณัฐดนัยเป็นกรรมการแทน ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 8/2546 แต่งตั้งให้บริษัทมูวิโอล่า จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นางนฤมลเป็นกรรมการแทน และบริษัทสไปซี่ จำกัด มอบหมายให้นางมัณฑณา เป็นกรรมการแทนและครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2547 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 9/2547 แต่งตั้งให้บริษัทเจเจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท ไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด เป็นกรรมการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า มติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ทั้งสามครั้งดังกล่าวที่แต่งตั้งนิติบุคคลให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
(1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม
(2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคลและการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า “ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาทมิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า “ผู้จัดการ” หรือ “ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียง โดยในบริษัทจำกัด “ผู้จัดการ” หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้น จึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ หรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัทสหวิริยา ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทมูวิโอล่า จำกัด บริษัทสไปซี่ จำกัด บริษัทเจเจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ แทนบริษัทได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ทั้งสามครั้งชอบด้วยกฎหมายและพิพากษาให้ยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share