คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาในศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ด้วยการที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็จะลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดได้ร่วมกันเล่นการพนันบาการา อันเป็นการพนันตามบัญชี ก. อันดับที่ 27 พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่มีพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้เล่นได้ โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ส่วนจำเลยอื่นนอกนั้นเป็นผู้เข้าร่วมเล่นการพนัน ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 57 ที่ 58 ที่ 86 ที่ 88 ที่ 97 และที่ 101 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว เชื้อชาติมาเลเซีย สัญชาติมาเลเซีย มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรไทย ได้เดินทางจากประเทศมาเลเซีย โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางด้านตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยไม่เข้ามาตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ยื่นรายการตามแบบที่กำหนด และไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่และได้อยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดได้พร้อมด้วยเงินสด 4,500 บาท ธนบัตรมาเลเซีย 1,513 เหรียญ และทรัพย์สินตามบัญชีของกลางท้ายฟ้องเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 10, 12, 15, ริบของกลางและให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดมีความรับผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 10, 12, 15 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าสำนัก จำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้ามือ จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 ฐานเป็นผู้เล่นปรับคนละ 2,000 บาท เรียงกระทงลงโทษสำหรับจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ฐานไม่เข้าตามช่องทางจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 22,000 บาท จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 2 เดือน จำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 ยกเว้น จำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 จำคุกคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 11,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 3 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างบทกฎหมายและบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดในบันทึกเสนอฟ้องด้วยวาจาสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึง… มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ทั้งตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ก็มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ที่โจทก์ฎีกาประสงค์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 เลยแม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับเป็นการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ เพราะการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดย่อมเป็นฐานข้อมูลที่ศาลจะต้องนำมาใช้พิจารณาว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจานั้นเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายที่อ้างจริงหรือไม่ หากศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิดอาญา แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็จะลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) และพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยดังกล่าวในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share