แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (4) มิใช่ปัญหาที่ต้องพิจารณาในเรื่องเป็นความผิดต่อเนื่องหรือความผิดที่กระทำลงในหลายท้องที่ตามมาตรา 19 (2) (3)
ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าว ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังมิได้แจ้งข้อหาให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้ เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่ได้มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานยักยอกและความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในแอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ด้วย จึงเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล หาได้สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 วรรคสอง ไม่ คำสั่งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทเหมืองแร่โอภาส จำกัด และจำเลยที่ 2 ร่วมกันยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของบริษัทเหมืองแร่โอภาส จำกัด ในที่ดินประทานบัตรที่ 6672/6348 (49/2518), 6673/6349, 6674/2420 (50/2519), 6675/6420 และ 6699 โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารบันทึกถ้อยคำ (แบบพิสูจน์) ขอออกเอกสารสิทธิที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารราชการว่านางสดสี อุดมทรัพย์ ประธานกรรมการของบริษัทได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ลูกหลานและนางรัมภา กุลวานิช มารดาจำเลยที่ 2 และมารดจำเลยที่ 2 ยกให้แก่จำเลยที่ 2 และอ้างว่าไม่อาจนำนางสดสีมาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนางสดสีมิได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางรัมภา และนางสดสีสามารถไปพบและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานได้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ในที่ดินประทานบัตรดังกล่าว รวม 13 แปลง คือ น.ส.3 ก. เลขที่ 1756, 1757, 1758, 1759, 1760, 1761, 1762, 1763, 1767, 1768, 1769, 1771, 1821 แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นเป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารบันทึกถ้อยคำดังกล่าวในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัท ผู้ถือหุ้น และประชาชน และจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปใช้ขายให้แก่บริษัทสำเภาเพชร จำกัด แล้วร่วมกันยักยอกเงินค่าที่ดินไป เหตุเกิดที่ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตปทุมวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาอัมรินทร์พลาซ่า แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 267, 268, 352, 353, 354 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้หรือคืนเงิน 386,859,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของบริษัทเหมืองแร่โอภาส จำกัด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายปรีดา อุดมทรัพย์ นางสุมิตรา (มาซาโกะ) อุดมทรัพย์ นายธเนศ อุดมทรัพย์ ผู้เสียหายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานยักยอก ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 267 จำคุก 2 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินประทานบัตรของบริษัทเหมืองแร่โอภาส จำกัด ที่สิ้นอายุสัมปทานไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยจำเลยที่ 2 แจ้งให้เจ้าพนักงงานที่ดินอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารบันทึกถ้อยคำ (แบบพิสูจน์) ขอออกเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า นางสดสี อุดมทรัพย์ ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางรัมภา กุลวานิช แล้วนางรัมภายกต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งที่นางสดสีไม่เคยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางรัมภา และจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นหลักฐานในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอท้ายเหมืองออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ได้มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีสอบสวนจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวซึ่งเหตุเกิดที่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงากับสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเหตุเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (4) หาใช่ปัญหาที่ต้องพิจารณาในเรื่องเป็นความผิดต่อเนื่องหรือความผิดที่กระทำลงในหลายท้องที่ตามมาตรา 19 (2) (3) หรือไม่ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ จึงถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกประการหนึ่งว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 หรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามเอกสารหมาย ป.ล.3 (ศาลอาญา) ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 35, 36, 42 และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 2 ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยที่ 2 ทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 2 ทุกข้อหา ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตส่งสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เฉพาะในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 353, 354 เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังมิได้แจ้งข้อหาให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่ได้มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 อันจำทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุดดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานยักยอกและความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ด้วยนั้นเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล หาได้สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 วรรคสอง ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ คำสั่งให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่กล่าวมาฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน