คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาเรื่องเดียวกันเดิมจำเลยถูกฟ้องด้วยวาจาตามบทบัญญัติของวิธีพิจารณาความอาญาในแขวงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยด้วยวาจา ซึ่งศาลยังมิได้พิจารณาเรื่องที่ได้ฟ้องแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
คดีอาญาที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาบันทึกว่า “มีเหตุอันควรรับรองให้ฎีกาได้” นั้นเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าบังอาจร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดิน ก่อสร้างแผ้วถางเผาป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายางกลัก โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 กฎกระทรวงฉบับที่ 729 (พ.ศ.2518)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และริบของกลาง กับให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ

จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 กฎกระทรวงฉบับที่ 729(พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 3 และลดรับสารภาพให้จำเลยทั้งหมดคนละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 เดือน ปรับ1,250 บาท จำเลยที่ 1, 2, 4, 5 จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2,500บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งหมดให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ฯลฯ

โจทก์อุทธรณ์ว่าควรลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าโดยไม่รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1,2, 4, 5 ไปโดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1, 2, 4, 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีบันทึกไว้ว่า “มีเหตุอันควรรับรองให้ฎีกาได้”

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยถูกฟ้องคดีเรื่องนี้ด้วยวาจาตามบทบัญญัติของวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วก็ปรากฏว่าคดีที่จำเลยอ้างมา ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยด้วยวาจา ซึ่งศาลยังมิได้พิจารณาเรื่องที่ได้ฟ้องแต่ประการใดเลย จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ดังที่จำเลยฎีกา ส่วนฎีกาที่จำเลยที่ 1,2, 4, 5 ขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรอการลงโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว ถ้าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประสงค์จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องบันทึกความเห็นให้ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งต้องบันทึกยืนยันว่าอนุญาตให้ฎีกาการที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาบันทึกว่ามีเหตุอันควรรับรองให้ฎีกาได้ขาดข้อความไปทั้งสองประการดังกล่าว ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาข้อเท็จจริงของจำเลยให้ไม่ได้

พิพากษายืน

Share