คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงกันกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินกันใหม่โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อเลิกคดีที่พิพาทกันอยู่ในศาล ไม่ถือว่าเป็นการขยายเวลาไถ่ในภายหลังตามความหมายของมาตรา 496 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการทำความตกลงกันใหม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้จะได้กระทำหลังจากกำหนดเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีคำพิพากษาตามยอมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นการขยายเวลาไถ่ในภายหลังตามความหมายของมาตราดังกล่าวดุจกันและข้อตกลงในประการหลังนี้ เป็นแต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาประนีประนอมยอมความไม่นับว่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์อันจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีที่มิต้องบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็มิใช่เรื่องที่จะต้องออกหมายบังคับคดีเสียก่อน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลก็มีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังจำเลยได้ทีเดียว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 452/2491)

ย่อยาว

คดีในชั้นบังคับคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๔๗ ตำบลบางยี่ขัน พร้อมด้วยบ้าน ๔ หลัง ซึ่งปลูกอยู่ที่ดินไว้แก่โจทก์ครบกำหนดแล้วจำเลยมิได้ไถ่ถอนและไม่ยอมออกไป ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวกับให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่โจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ยอมไปรับไถ่ถอนตามกำหนดนัด จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์เพื่อให้โจทก์รับไถ่ถอนแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ ๕๐๐๔/๒๕๒๐ ของศาลแพ่ง
ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลมีใจความว่า จำเลยและบริวารยอมอพยพขนย้ายออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๑๔๗ ของโจทก์ภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ หากจำเลยกับบริวารไม่ออกไป ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีและยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์จนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่ถ้าจำเลยได้ไถ่ถอนที่พิพาทจากโจทก์ตามที่คู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความภายในกำหนดแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจเรียกร้องเอาค่าเสียหายและบังคับคดีแก่จำเลย ศาลพิพากษาตามยอม
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลจับกุมจำเลยและบริวาร ศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนคำร้อง ในวันนัดจำเลยแถลงว่าจำเลยและบริวารยังอยู่ในที่พิพาทจริง จำเลยได้ไปขอไถ่ถอนที่พิพาทจากโจทก์ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความแต่โจทก์ไม่อาจให้ไถ่ได้-เพราะได้นำโฉนดที่ดินไปประกันผู้ต้องหาไว้ จำเลยจึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์แถลงว่า โจทก์ไม่มีโฉนดที่ดินพิพาทให้ไถ่ถอนจริง จึงได้ทำหนังสือตกลงกันเองยึดเวลาไถ่ถอนออกไปเป็นระยะแรกภายในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ หากไถ่ถอนไม่ทันให้ยืดเวลาออกไปอีก ๖๐ วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาทั้ง ๒ ระยะแล้ว จำเลยไม่ได้จัดการไถ่ถอนตามข้อตกลงจำเลยแถลงว่าก่อนครบกำหนด และในวันครบกำหนด ๖๐ วัน จำเลยเคยไปขอพบโจทก์เพื่อขอไถ่ถอนตามข้อตกลง แต่วันนั้นจำเลยมีเงินค่าไถ่ถอนไปไม่ครบ โจทก์จึงไม่ยอมให้ไถ่ถอน โจทก์แถลงว่า จำเลยมีเงินไปเพียง ๓ หมื่นบาทเศษ ทั้งๆ ที่จะต้องไถ่ในราคา ๔ แสนบาทเศษ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอจะวินิจฉัยได้แล้วสั่งงดไต่สวนและเห็นว่าจำเลย ไม่จัดการไถ่ถอนตามข้อตกลง และจำเลยมีเงินไม่ครบถ้วนที่จะไถ่ถอนในวันนั้น ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาทอีกต่อไป และจำเลย-สามารถปฏิบัติตามคำบังคับ คือออกไปจากที่พิพาทได้ ทั้งโจทก์ก็ไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะบังคับคดีได้ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายกักขังจำเลยไว้ แต่ไม่เกิน ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่ว่าการที่โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือตกลงกำหนดวันไถ่ถอนกันใหม่นั้นอันเป็นการขยายเวลาไถ่ถอนการขายฝากโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๖ หรือไม่ดังนี้ เดิมจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมด้วยเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ มีกำหนดไถ่ถอนภายในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๐ ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยไม่ได้ไถ่ถอนจนพ้นกำหนดเวลาแล้วและยังอยู่ในที่ดินพิพาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป จำเลยก็ฟ้องขอให้บังคับให้โจทก์ยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินพิพาท แต่ไม่ว่าฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาขายฝาก และจำเลยยังมีสิทธิไถ่ที่ดินพิพาทให้อยู่อีกหรือไม่ก็ตาม โจทก์จำเลยก็ได้ร่วมใจกันระงับข้อพิพาทตามที่ได้ฟ้องร้องเป็นคดีกันเสีย โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันทั้ง ๒ คดี และศาลได้พิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โดยตกลงกำหนดเวลาไถ่ที่ดินพิพาทกันใหม่เป็นภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ การตกลงกันกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินกันใหม่–ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อเลิกคดีที่พิพาทกันอยู่ในศาลเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการขยายระยะเวลาไถ่ในภายหลังตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๖ ซึ่งข้อนี้จำเลยเองก็มิได้มีความสงสัยและทักท้วง ครั้นเมื่อเวลาไถ่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเกิดมีอุปสรรคขึ้นไม่อาจดำเนินการไถ่ให้เสำเร็จไปได้ โจทก์จำเลยก็มิได้ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเกณฑ์ที่จะบังคับคดีไปตามนั้น หากแต่ได้ตกลงกำหนดเวลาไถ่กันใหม่ตามเอกสารหมายเลข ๑ แล้ว จำเลยกลับมาอ้างว่าการที่โจทก์จำเลยทำหนังสือตกลงกำหนดเวลาไถ่กันใหม่นี้เป็นการขยายเวลาไถ่ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๔๙๖ เช่นนี้หาชอบไม่ เพราะการตกลงกำหนดเวลาไถ่กันใหม่โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อเลิกคดีในศาลไม่ถือว่าเป็นการขยายเวลาไถ่ในภายหลังตามความหมายของมาตรา ๔๙๖ ฉันใด การทำความตกลงกันใหม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดวเลาไถ่ตามสัญญาประนีประนอมฯ ก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นการขยายเวลาไถ่ในภายหลังตามความหมายของมาตราดังกล่าวฉันนั้น
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า การขายฝากอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ข้อตกลงตามเอกสารหมายเลข ๑ ไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่สมบูรณ์ (เป็นโมฆะ) ตามมาตรา ๑๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงกันที่จะไม่ถือเอากำหนดวเลาไถ่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาเป็นเกณฑ์ในการขอบังคับคดี และได้ตกลงกำหนดเวลาไถ่กันขึ้นใหม่ดังนี้ เป็นแต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่นับว่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์อันจะต้องจดทะเบียน
ปัญหาที่ว่าศาลชั้นต้นออกหมายกักขังจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน เพราะไม่ปรากฏว่าได้มีการออกหมายบังคับคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากรณีแห่งคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องออกหมายบังคับคดีเสียก่อน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลก็มีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังจำเลยได้ นัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๒/๒๔๙๑
พิพากษายืน.

Share