แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าวันที่จำเลยกระทำผิดเป็นเวลาที่ได้มีพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับแล้ว ยังจะถือว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 296 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยนั้นเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย เพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ไม่มีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทกฎหมายผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้รถบรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไป 13,290 กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุก 1 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเดือนละครั้งเป็นเวลา 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากวันที่จำเลยกระทำผิดเป็นเวลาที่ได้มีพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับแล้ว จึงมีปัญหาว่ายังจะถือว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เห็นว่าเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แล้ว ศาลจะพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องหาได้ไม่ ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 5 มาปรับลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 หาได้ไม่ การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยนั้น เท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลยเพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ไม่มีอยู่เสียแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทกฎหมายผิด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง