แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนปล้นทรัพย์ แต่ไม่ระบุว่าเป็นอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ อันจะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสามดังนี้ จึงลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษหนักขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานพาอาวุธปืนโดยผิดกฎหมายไม่เกิน5 ปี การที่จำเลยฎีกาว่ามิได้พาอาวุธปืน ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 และในกรณีศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ แต่จำเลยกลับฎีกาโต้แย้งว่ามิได้มีอาวุธปืนสั้นซึ่งมีนายทะเบียนของบุคคลอื่นไว้ในครอบครองดังนี้ถือว่าฎีกาที่ไม่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก มีเครื่องหมายทะเบียนและกระสุนปืนจำนวน 6 นัด ของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันมีอาวุธปืนยาว เอช.เค.33 จำนวน 1 กระบอกและกระสุนปืน จำนวน 119 นัดอันเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วพกพาอาวุธปืนพร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปโดยมิได้รับใบอนุญาต จำเลยทั้งสี่โดยมีอาวุธปืนติดตัวและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดได้ร่วมกันลักทรัพย์รวมสองครั้ง คือ ลักเอาทรัพย์เครื่องเลื่อยจักรยนต์ชนิดมือถือครั้งละ 1 เครื่อง ของบริษัท ซี.เอ็น.ที. จำกัด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายสุเมธ ขนาน และนายประสิทธิ์ แดงเรืองผู้เสียหาย ตามลำดับ ในการลักทรัพย์ทั้งสองครั้ง จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญบังคับผู้เสียหาย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป และจำเลยทั้งสี่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์ดังกล่าวไป เหตุเกิดที่ตำบลตะแพน กิ่งอำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง ต่อมาเจ้าพนักงานยึดได้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน และได้อาวุธปืนสั้นขนาด .38จำนวน 1 กระบอก พร้อมด้วยกระสุนปืน จำนวน 6 นัด และซองพกปืน1 ซอง จากจำเลยที่ 2 เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 และขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1138/2531ของศาลชั้นต้นดังกล่าวกับให้สั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง,340 ตรี ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 18 ปี โดยลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์คนละ 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสามจำคุกคนละ 1 ปี กระทงหนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก คนละ 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2สี่กระทงเป็นจำคุกคนละ 38 ปี กับให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1138/2531 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่ความตายในวันที่ 19 มกราคม 2532ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีและ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคสามรวม 2 กระทง แต่ละกระทงให้วางโทษจำคุกตลอดชีวิตและจำเลยที่ 2ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคแรกวางโทษจำคุก 2 ปี ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวางโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่ละกระทงให้จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษแต่ละกระทงมารวมเข้าด้วย คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตสถานเดียวส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง รวมคนละ 2 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยวางโทษจำคุกกระทงละ12 ปี รวมจำคุก จำเลยที่ 3 ที่ 4 คนละ 24 ปี ริบจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปล้นทรัพย์โดยปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี ประกอบพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคสาม รวมเป็นลงโทษฐานปล้นทรัพย์2 กระทง แต่ละกระทงให้วางโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะตามฟ้องของโจทก์ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ระบุเพียงว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนเท่านั้น แต่มิได้ระบุว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้อันจะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 มาตรา 3 จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 78 วรรคสาม แห่งกฎหมายดังกล่าว
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการจับกุมจำเลยที่ 2 ขณะพกพาอาวุธปืน จะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้นั้น เห็นว่า ในข้อหาพาอาวุธปืนโดยผิดกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกการที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 2 มิได้พกพาอาวุธปืนซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวส่วนข้อหามีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้นจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในครอบครอง แต่กลับไปโต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีอาวุธปืนสั้นซึ่งมีทะเบียนของบุคคลอื่นไว้ในครอบครอง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ให้จำคุกกระทงละ18 ปี รวมสองกระทงจำคุก 36 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3