คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128-1129/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวจัดให้มีการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ เมื่อมีลูกค้าจะลงท่องเที่ยวเรือสำราญจำเลยจะแจ้งโจทก์ทราบโจทก์มีสิทธิที่จะให้บริการหรือปฏิเสธที่จะไม่ให้บริการแก่ลูกค้าได้หากโจทก์รับให้บริการแก่ลูกค้าบนเรือสำราญจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน เมื่อเรือสำราญต้องเข้าฝั่งโจทก์จะหมดหน้าที่เป็นคราวไปการจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ไม่ใช่การจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แต่เป็นการจ้างทำของตามมาตรา 587โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมทำงาน เพราะเมื่อมีลูกค้าลงเรือสำราญจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าถือเป็นวันทำงานปกติ เป็นการกำหนดวันทำงานในรอบสัปดาห์ไม่ใช่เป็นงานที่หมดหน้าที่เป็นคราว ๆ ไปและไม่ได้มุ่งถึงความสำเร็จของงาน อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ทำงานให้จำเลยโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ถือได้ว่าโจทก์ทำงานให้จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่างไปจากศาลแรงงานกลาง เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542 โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับ มีหน้าที่คอยบริการแนะนำลูกค้าและแลกเงินตราต่างประเทศ ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างวันละ400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และจำเลยได้ตกลงจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ที่ 1 สัปดาห์ละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 สัปดาห์ละ 2,500 บาท สรุปแล้วโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยเป็นเงินเดือนเดือนละ 18,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยเป็นเงินเดือน เดือนละ 14,800 บาท ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2544 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ทั้งสองรู้เห็นเรื่องนายชาญวิทย์ วิทยอำนวยคุณ ประพฤติผิดศีลธรรมกับพนักงานในบริษัทบางคน ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวนั้นโจทก์ทั้งสองไม่ได้รู้เห็นหรือสนับสนุนถึงการกระทำดังกล่าวด้วย การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนเป็นเงิน 18,000 บาท ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 54,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน เป็นเงิน 1,800 บาท ค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,512,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 14,800 บาท ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 44,400 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 12 วันเป็นเงิน 4,800 บาทค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,243,200 บาท แก่โจทก์ที่ 2
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้รับจ้างนำทัวร์ที่จำเลยจัดมาหาเพื่อนำเที่ยวเป็นครั้งคราวเท่านั้น จำเลยจะจ้างโจทก์ทั้งสองตามความเหมาะสมของทัวร์ต่างประเทศที่จำเลยจัดหามาและโจทก์ทั้งสองได้จัดทำสัญญาจ้างบริการไว้กับจำเลย โจทก์ทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าตนเป็นเพียงผู้นำเที่ยวเป็นครั้งคราวเท่านั้น จำเลยไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้ามาทำงานให้แก่จำเลยทุกวัน โจทก์ทั้งสองจะมาทำงานให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยติดต่อไปและแม้จำเลยจะติดต่อให้โจทก์ทั้งสองมาบริการนำเที่ยวให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่มาทำงานให้แก่จำเลยได้ จำเลยไม่มีอำนาจลงโทษและไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด คดีที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ้างแรงงานจึงไม่ใช่คดีแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องเป็นการเลื่อนลอยและไม่มีสิทธิที่จะได้รับขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว จัดให้มีการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ เมื่อมีลูกค้าจะลงท่องเที่ยวเรือสำราญจำเลยจะแจ้งโจทก์ทั้งสองทราบ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะให้บริการหรือปฏิเสธที่จะไม่ลงเรือสำราญเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ หากโจทก์ทั้งสองรับให้บริการแก่ลูกค้าบนเรือสำราญจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเมื่อเรือสำราญต้องเข้าฝั่งโจทก์ทั้งสองจะหมดหน้าที่เป็นคราวไป ในการทำงานโจทก์ทั้งสองและจำเลยจัดทำสัญญาจ้างบริการไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 การจ้างงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญคือการให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลยบนเรือสำราญเป็นครั้งคราวไป ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ใช่การจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แต่เป็นการจ้างทำของตามมาตรา 587 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลยโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้างความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน อีกทั้งที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมทำงานนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีลูกค้าลงเรือสำราญจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าถือเป็นวันทำงานปกติเป็นการกำหนดวันทำงานในรอบสัปดาห์ไม่ใช่เป็นงานที่หมดหน้าที่เป็นคราว ๆ ไป และไม่ได้มุ่งถึงความสำเร็จของงานนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่างไปจากศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานตามที่จำเลยแจ้ง และการทำงานไม่ใช่จ้างเป็นคราว ๆ ไป เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสองมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง

Share