คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์มิได้เพิกเฉยไม่ซ่อมหลังคาดังที่จำเลยกล่าวอ้างจำเลยจึงไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงเงินค่าจ้างที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงรับจะเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโครงเหล็กหลังคา จำเลยจึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโครงเหล็กหลังคามาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ค้างชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งหลังคาพร้อมอุปกรณ์ ผนังพร้อมอุปกรณ์ สกายไลท์พร้อมอุปกรณ์และบานเกล็ดพร้อมอุปกรณ์ ค่าสินค้าและค่าติดตั้งคิดเป็นตารางเมตร รวมเป็นเงิน 1,660,645 บาท ในกรณีพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ตกลงกันให้คิดราคาตามพื้นที่จริง โจทก์ติดตั้งหลังคาผนัง สกายไลท์และบานเกล็ดเสร็จและจำเลยตรวจรับมอบสินค้าจากโจทก์แล้ว ปรากฏว่ามีค่าสินค้าและค่าติดตั้งเพิ่มจากสัญญาเป็นเงิน 113,310 บาท จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันรับมอบสินค้าคือวันที่ 31 มกราคม 2528 แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,226 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 129,536 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 113,310 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์รับประกันวัสดุและงานติดตั้งตามฟ้องมีกำหนด 5 ปี แต่หลังจากจำเลยรับมอบงานแล้ว หลังคาที่โจทก์ติดตั้งมีรอยรั่ว จำเลยแจ้งให้โจทก์ซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ไม่ไปซ่อม จำเลยจึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างส่วนที่ยังค้างชำระไว้ได้จนกว่าโจทก์จะให้ประกันแก่จำเลยตามสมควรนอกจากนี้ในระหว่างปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังคาโดยยอมให้จำเลยหักเงินค่าใช้จ่ายจากโจทก์ได้ จำเลยทำการแก้ไขสิ้นเงินไป 44,810.30 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เพียง 68,499.70 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินที่ค้างชำระหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยมีนายนพศักดิ์ เมฆานุรัตน์วิศวกรคุมงานก่อสร้างของจำเลยเพียงคนเดียวเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ไปซ่อมหลังคาอาคารโรงงานที่ยังมีการรั่วจำเลยจึงไม่ชำระเงินส่วนที่ค้างแก่โจทก์ แต่ใครเป็นคนซ่อมหรือว่าการรั่วของหลังคาอาคารหมดสิ้นไปด้วยเหตุใดนั้น จำเลยหาได้นำสืบให้ปรากฏไม่ หลังมีหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2528 ขอให้ทำการซ่อมหลังคาอาคาร 113 ที่มีจุดรั่วอีกหลายแห่ง ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้วก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทสุราทิพย์ศรีอรุณ จำกัด ได้แจ้งหรือขอให้จำเลยไปซ่อมหลังคาอาคารอีกเลยเมื่อถูกเร่งรัดให้ชำระหนี้ตามเอกสารหมายจ.6 แล้ว จำเลยก็มิได้ตอบปฏิเสธเป็นหนังสืออ้างเหตุใด ๆต่อโจทก์ โจทก์มีนายสาธิต ตริตารักษ์ ผู้จัดการกับนายวิโรจน์ ชูชัยวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการห้างโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ไปจัดการซ่อมหลังคาอาคารที่มีการรั่วให้ทันทีเมื่อได้รับแจ้งทุกครั้ง การรั่วที่จำเลยแจ้งมาตามเอกสารหมาย ล.4 นั้น นายวิโรจน์เบิกความว่าโจทก์ไปซ่อมให้เมื่อประมาณวันที่ 1 พฤศจิกายน2528 พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์มิได้เพิกเฉยไม่ซ่อมหลังคาดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ทำการซ่อมแซมหลังคาอาคารที่รั่วแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงเงินที่ค้างชำระ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธินำเงินค่าแก้ไขโครงเหล็กหลังคามาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ค้างชำระหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายวิโรจน์เป็นพยานเบิกความว่า โครงเหล็กหลังคาไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์จะต้องจัดทำ ถ้าติดตั้งไว้ไม่ดีเป็นหน้าที่จำเลยต้องแก้ไขและได้ความจากคำเบิกความของนายสุธี สาลิคุปต์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงงานรายนี้พยานจำเลยเองว่า เมื่อแก้ไขโครงเหล็กหลังคาแล้วการมุงแผ่นเหล็กลอนชุบสังกะสีก็ลงตัวพอดีไม่เหลื่อมล้ำกัน จำเลยมีแต่นายนพศักดิ์คนเดียวเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์รับจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโครงเหล็กหลังคาด้วยวาจาส่วนนายพรชัย จึงสวนันท์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการก่อสร้างของจำเลย พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า นายช่างของโจทก์มิได้รับปากอะไรเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการแก้ไขดังกล่าว เช่นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโครงเหล็กหลังคา จำเลยจึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโครงเหล็กหลังคามาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ค้างชำระ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยชำระเงิน 113,310 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share