คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่ 2 คดีนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะโจทก์คดีดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตาม พ.ร.บหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัท ว. เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการจัดตั้งเป็นกองทุนรวม ได้มอบให้ อ. ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขาย ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ อ. ซื้อมารวมถึงมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 นำมาฟ้องโจทก์ทั้งสองให้รับผิด และต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมจึงได้ให้สัตยาบันการกระทำของ อ. จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้ อ. ทำการซื้อขายแทน ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมดและยอมรับว่าเป็นหนี้จำลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวจริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมาย และ ม. ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
เมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22946 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ให้โจทก์ทั้งสองคัดสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ของศาลแพ่งเสนอต่อศาลภายใน 15 วัน ต่อมาโจทก์ทั้งสองอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขคดีดำที่ 11107/2543 หรือคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ประมูลซื้อสินทรัพย์มาโดยชอบ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวเป็นคดีนี้ ทั้งๆ ที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่งและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ต่อศาลแพ่งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรบผิดต่อจำเลยที่ 2 และคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่ง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ดังกล่าวหรือไม่ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 กับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้ได้ความว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 จำเลยที่ 2 คดีนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะโจทก์คดีดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการจัดตั้งเป็นกองทุนรวม ได้มอบให้นายเอลดริจ ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่นายเอลดริจ ซื้อมารวมถึงมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 นำมาฟ้องโจทก์ทั้งสองให้ต้องรับผิด และต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมจึงได้ให้สัตยาบันการกระทำของนายเอลดริจ จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้นายเอลดริจ ทำการซื้อขายแทนแต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมดและยอมรับว่าเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอยู่จริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมายและนายมนตรี ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1จึงไม่มีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share