แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่เช็คพิพาทประทับดวงตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1ไม่ถูกต้อง ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งลงชื่อสั่งจ่ายในฐานะส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 902 เช็คพิพาทชำระค่าอากรแสตมป์ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หมายถึง จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้นมิใช่จะฟ้องบังคับคดีตามเช็คไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชลบุรีจำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 500,000 บาท รวมเช็ค 2 ฉบับ เป็นเงิน1,000,000 บาท เช็คทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายมอบให้แก่ผู้มีชื่อนำเช็คทั้งสองฉบับนี้ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้นเช็คถึงกำหนดสั่งจ่าย โจทก์นำเช็คทั้ง 2 ฉบับเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามความในเช็คทั้ง 2 ฉบับในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,041,666.66บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คที่นายศรีไทย ศรีเวทย์บดี กับนายสุรชัย ภูริเวทย์คุณากร สมคบร่วมกันปลอมแปลงตัวเลขและตัวหนังสือเขียนกรอกลงไปในเช็คพร้อมกับเช็คอื่นอีก 1 ฉบับ โดยนายศรีไทยเป็นผู้เขียนวันเดือนปีจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือ พร้อมทั้งประทับตราของจำเลยที่ 1 ลงไปในเช็คดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอม ต่อมานายศรีไทยและนายสุรชัยซึ่งทั้งสองเป็นกรรมการของบริษัทยูนิบราเดอร์จำกัด ได้ร่วมกันทำกลฉ้อฉลลวงจำเลยทั้งสองโดยทำเป็นโอนเช็คพิพาทกับเช็คอื่นอีก 1 ฉบับ รวม 3 ฉบับ ที่ไม่มีมูลค่าและมูลหนี้ใด ๆโดยมิใช่โอนกันจริง ๆ ไปให้แก่โจทก์ซึ่งมีนายสุรชัยและนายศรีไทยเป็นกรรมการอยู่เช่นกัน จึงเปรียบเสมือนโอนเช็คพิพาทให้แก่คนเดียวกัน เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2ซึ่งไม่มีดวงตราใด ๆ ประทับในเช็ค ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5ซึ่งมีต้นขั้วเช็คตามสำเนาต้นขั้วเอกสารหมาย ล.45 แผ่นที่ 4 และ 17ตามลำดับ นายศรีไทย ศรีเวทย์บดี กรรมการผู้จัดการบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด เป็นผู้กรอกจำนวนเงิน และเขียนต้นขั้วเช็คพิพาท คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายชำระหนี้เงินยืมที่จำเลยที่ 2ยืมจากนายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด หรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยทั้งสองน่าเชื่อว่าการที่นายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด ได้ให้จำเลยที่ 2ยืมเงินไปก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ต้องการนำไปขยายโรงงานผลิตสินค้าที่ตกลงจะให้บริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายนั่นเองอันเป็นการเกื้อกูลกันโดยไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีกำหนดชำระคืนดังนั้นจึงไม่ได้มีการลงวันที่ในเช็คจนกระทั่งได้เกิดกรณีพิพาทกันระหว่างบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด กับจำเลยทั้งสองถึงกับยกเลิกสัญญาการเป็นผู้จัดการจำหน่ายสินค้า นายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด จึงได้ทวงถามเงินตามเช็ค เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายสุรชัยผู้ทรงคนต่อมาและโจทก์ผู้ทรงคนปัจจุบันรับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นั้น เห็นว่า เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงหาต้องคำนึงถึงการรับโอนของผู้ทรงคนต่อมาไม่ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม จำเลยก็ไม่สามารถยกข้อต่อสู้ที่ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้ทรงคนก่อนได้อยู่แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไป เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ว่า จำเลยที่ 1ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงดวงตรา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2525ดังนั้น ก่อนหน้านี้การประทับดวงตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นดวงตราแบบเก่า การที่เช็คพิพาทประทับดวงตราสำคัญแบบใหม่ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใช้ และตามใบคืนเช็คธนาคารแจ้งว่า ตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ไม่มีตราประทับแสดงว่าเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ถึงอย่างไรก็ตาม การที่เช็คพิพาทลงลายมือชื่อบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 902ดังนั้น เมื่อเช็คพิพาทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อสุดท้ายว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526 มาตรา 14 แก้ไขบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสาร ข้อ 12 กำหนดค่าอากรแสตมป์เช็คเป็นฉบับละ 3 บาทซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นมาย่อมหมายความว่า เช็คซึ่งสั่งจ่ายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2526เป็นต้นมา ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ 3 บาท สำหรับเช็คพิพาทลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 31 มีนาคม 2529 ดังนั้น จึงต้องชำระค่าอากรแสตมป์ฉบับละ 3 บาท แต่ปรากฏว่าเช็คพิพาทชำระค่าอากรแสตมป์ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หมายถึง จะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาใช่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ไม่ สำหรับคดีนี้แม้จะไม่รับฟังเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นพยานแต่จำเลยทั้งสองก็รับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เพียงแต่อ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามเช็คเท่านั้นดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและต้องรับผิดดังที่ได้วินิจฉัยมา ข้อต่อสู้ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้ออื่น ๆ นอกจากที่ได้วินิจฉัยมาล้วนเป็นข้อที่มิใช่สาระสำคัญถึงกับจะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์