แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยกลับมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถตามที่จำเลยขอร้อง กลับนำบันทึกขอความเป็นธรรมของจำเลยมาเขียนว่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกรมการแพทย์ที่สั่งให้จำเลยไปทำหน้าที่คนกลั่นน้ำ ดังนี้ เป็นการที่ผู้ตายปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ มิใช่การข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจำเลยจะนำมาอ้างเพื่อกระทำต่อผู้ตายโดยอาศัยเหตุบันดาลโทสะไม่ได้ จำเลยไม่พอใจผู้ตายที่ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยให้กลับมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถที่จำเลยเคยทำอยู่ จึงกลับไปเอาอาวุธปืนที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำงาน 13-14 กิโลเมตร มายิงผู้ตายจำเลยมีระยะเวลานานพอสมควรที่จะทบทวนยับยั้งความคิดพยาบาทอาฆาตแค้นผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายตามที่ได้เตรียมการมา จึงเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 วางโทษประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสองพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,371, 33, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ ริบของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2495/2530 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับว่ายิงผู้ตายถึงแก่ความตายจริง แต่กระทำไปโดยบันดาลโทสะ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 กระทงหนึ่ง ให้ประหารชีวิต และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก, มาตรา72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิต นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2495/2530 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืน กระสุนปืน หัวกระสุนปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ให้ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกเป็นมาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1))หนึ่งในสามคงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยและโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันเกิดเหตุ ก่อนเวลาเกิดเหตุ เมื่อจำเลยได้ทราบคำสั่งกรมการแพทย์ให้จำเลยไปทำหน้าที่คนงานกลั่นน้ำจำเลยได้ไปพูดขอความเป็นธรรมกับผู้ตายในฐานะผู้บังคับบัญชาขอให้ย้ายมาเป็นพนักงานขับรถตามเดิม แต่ผู้ตายว่าย้ายให้ไม่ได้เพราะเป็นคำสั่งกรม และเอาบันทึกที่จำเลยขอความเป็นธรรมขึ้นมาเขียนว่าให้ปฏิบัติตามคำสั่งกรม ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่าผู้ตายได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีกรณีที่จะเห็นได้ว่ามีการกระทำของผู้ตายในลักษณะที่เป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะให้ถือได้ว่ามีเหตุบันดาลโทสะตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กำหนดไว้ ส่วนในความรู้สึกของจำเลยที่อ้างว่าการย้ายหน้าที่เป็นการเสียศักดิ์ศรี ทำให้เกิดความคับแค้นใจนั้นเป็นความรู้สึกส่วนตัวของจำเลยเองที่คิดและเห็นว่าเป็นเช่นนั้นจึงจะนำมาอ้างเพื่อกระทำต่อผู้ตายโดยอาศัยเหตุบันดาลโทสะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้ การที่จำเลยมีเหตุไม่พอใจผู้ตาย จึงกลับไปบ้านนำเอาอาวุธปืนที่บ้าน แล้วนั่งรถแท็กซี่มาที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ห่างบ้านจำเลยประมาณ 13-14 กิโลเมตร นั้น นับว่า เป็นเวลานานพอสมควรที่จำเลยสามารถจะทบทวนถึงการที่ตนจะกระทำลงไปได้ดีพอที่จะยับยั้งความคิดพยาบาทอาฆาตแค้นผู้ตายที่ไม่กระทำตามความต้องการของตนได้เป็นอย่างดี แต่จำเลยหามีสำนึกในข้อนี้ไม่ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็เข้าไปในห้องทำงานของผู้ตาย และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะที่นั่งทำงานอยู่ จนถึงแก่ความตายสมเจตนาที่ได้เตรียมการมาเพื่อฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษที่ลงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่ควรลดโทษให้จำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน