คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ และโจทก์ได้เช็คมาไว้ในครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือไปมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทนำไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าเช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกัน และโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวมาไว้ในครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประเด็นข้อพิพาทแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงมิได้เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาทเพราะเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 2 เช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทนั้นและถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถูกฟ้องในมูลเช็ค หาอาจต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,122,026 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,071,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,121,026 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มีนาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์และให้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระแก่โจกท์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 47 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขาย โดยให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจในการจดทะเบียนโอนสิทธิและรับเงินจากผู้ซื้อ ตามหนังสือมอบอำนาจ วันที่ 17 มกราคม 2539 จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 7,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำจำนวน 1,400,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 5,600,000 บาท จะจ่ายภายใน 1 ปี นับจากวันทำสัญญา หากโจทก์ต้องการเงินสดภายในวันที่ 14 มีนาคม 2539 โจทก์ในฐานะผู้ขายยินยอมให้หักเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 600,000 บาท ออกไป ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ และมีการทำบันทึกท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยที่ 2 ได้รับชำระเงินมัดจำจำนวน 1,400,000 บาท จากจำเลยที่ 1 แล้ว แต่มอบให้แก่โจทก์เพียง 750,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าต้องการรับชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือก่อนครบกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 4,800,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้นำไปเรียกเก็บเงินแล้วตามสำเนาเช็คแต่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือไปมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้ออกเช็คพิพาทคือเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 17 มกราคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 4,070,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังแล้วส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายตามเช็คและใบคืนเช็ค
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทในคดีหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ และโจทก์ได้เช็คดังกล่าวมาไว้ในความครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งคู่ความเห็นชอบด้วย แต่ศาลอุทธรณ์กลับกำหนดประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยใหม่ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทในคดีซึ่งไม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือไปมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้เสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกลง จึงออกเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คพิพาทนำไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า เช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกัน และโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวมาไว้ในครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้แล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงมิได้เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทในคดีแต่อย่างใดไม่ เพราะเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ การกำหนดประเด็นของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าบ้านพร้อมที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 2 เช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของภริยาจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาโดยไม่สามารถนำโฉนดที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 มามอบให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ภายในกำหนดถือว่าเช็คเป็นโมฆะ มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงไม่มี โจทก์ไม่สามารถจะกล่าวอ้างเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงิน หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันคบคิดกันฉ้อฉลโดยรู้อยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ค่าจะซื้อขายที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นำมาฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่อย่างไรจึงไม่สามารถรับฟังได้ ดังนั้น เมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเนื้อความในเช็คพร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการที่โจทก์ถูกหักจำนวน 1,000 บาท จากการที่เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ด้วยแต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปบางส่วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงคงร่วมรับผิดเฉพาะหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share