คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว วันเกิดเหตุรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์และบุตรโจทก์ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังเกิดเหตุ ผู้ขับรถยนต์กระบะขับหลบหนีไปโดยจำเลยที่ 2 แจ้งต่อพนักงานตำรวจว่า ต. ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงกับผู้ขับ และเหตุละเมิดเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขับรถยนต์กระบะขับไปในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทราบ และมิได้ยืนยันว่า ต. เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุละเมิดจากการขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นตัวการในการกระทำละเมิดเองโดยตรงด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุละเมิดจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย อ. จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลเด็กชาย อ. ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ เมื่อเด็กชาย อ. ถูกกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้โดยตรง
ค่าใช้จ่ายอันเป็นค่าเดินทางไปดูแลอาการเด็กชาย อ. เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวรพจน์ อายุ 19 ปี และเด็กชายอานนท์ อายุ 14 ปี และเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นครปฐม ป-1520 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ร-2954 กรุงเทพมหานคร โดยรถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 มีผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวไปในทางการที่ใช้จ้างวานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 3 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสาม ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความเร็วเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ ที่นายวรพจน์ขับมาโดยมีเด็กชายอานนท์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ จนเสียหลักล้มลง ทำให้นายวรพจน์และเด็กชายอานนท์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวหลบหนีไปโดยจำเลยที่ 2 ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่านายตองเป็นผู้ขับ โจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลนายวรพจน์และเด็กชายอานนท์เป็นเงิน 38,183 บาท และ 186,880 บาท ตามลำดับ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลรักษาวันละ 700 บาทรวม 23 วัน เป็นเงิน 16,100 บาท ขาดรายได้จากการค้าขายวันละ 1,000 บาท รวม 23 วัน เป็นเงิน 23,000 บาท และเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 18,541 บาท รวมเป็นเงิน 282,704 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,902.10 บาท รวมเป็นเงิน 298,606.10 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 298,606.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 282,704 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดจำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6-ร-2954 กรุงเทพมหานครให้จำเลยที่ 2 แล้ว แต่ยังมิได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน จำเลยที่ 3 จึงมิใช่เจ้าของรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวแล้ว แต่มีผู้ขอยืมรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เพื่อไปใช้ในกิจธุระของตนเองที่จังหวัดชุมพร จึงมิได้เป็นการกระทำในทางการที่จ้างวานใช้ และมิได้เป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสาม รถยนต์ดังกล่าวมิได้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายวรพจน์ขับ ค่ารักษาพยาบาลของนายวรพจน์ไม่เกิน 5,000 บาท และของเด็กชายอานนท์ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 2,600 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเดินทางไปดูแลอาการ และค่าขาดรายได้จากการค้าขาย บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ได้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โจทก์จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์กระบะแต่เกิดจากความประมาทของนายวรพจน์ จำเลยร่วมรับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ซึ่งคุ้มครองความเสียหายต่อร่างกายรายละไม่เกิน 10,000 บาท จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าขาดรายได้และค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 253,604 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 4 ธันวาคม 2540) ให้ไม่เกิน 15,902.10 บาท ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 253,604 บาท ทั้งนี้จำเลยร่วมรับผิดในวงเงิน 78,183 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวรพจน์ และเด็กชายอานนท์ และเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นครปฐม ป-1520 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยาและเป็นผู้ครอบครองใช้สอยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ร-2954 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถในรายการจดทะเบียนและได้เอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้กับจำเลยร่วม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 นายวรพจน์ขับรถจักรยานยนต์ของโจทก์โดยมีเด็กชายอานนท์นั่งซ้อนท้ายตามถนนเพชรเกษม และถูกรถยนต์กระบะดังกล่าวเฉี่ยวชนบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ตำบลห้วยจระข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม นายวรพจน์และเด็กชายอานนท์ได้รับบาดเจ็บ รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่าเหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ร-2954 กรุงเทพมหานคร หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานคนหนึ่งคนใดหรือพยานเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดมาแสดงให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์กระบะได้ขับรถโดยประมาท คงมีเพียงคำเบิกความของนายวรพจน์และร้อยตำรวจเอกทวีสุข ซึ่งนายวรพจน์ย่อมเบิกความที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ส่วนร้อยตรวจเอกทวีสุขเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเมื่อโจทก์ไม่นำบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่อยู่ในเหตุการณ์มาเป็นพยานจึงรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะเป็นฝ่ายประมาทนั้น เห็นว่า การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งเป็นการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่าใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ มีความสมเหตุสมผลสอดคล้องต่อความเป็นจริงทั้งพยานบุคคลพยานเอกสารและพยานวัตถุอันควรแก่การรับฟังมากยิ่งกว่ากัน คดีนี้โจทก์มีนายวรพจน์ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่ประสบเหตุมาเบิกความด้วยตนเองว่า ขณะพยานขับรถจักรยานยนต์อยู่ในช่องซ้าย และจะแซงรถยนต์โดยสารที่แล่นอยู่ข้างหน้า ได้มีรถยนต์กระบะซึ่งแล่นในช่องขวาหักเลี้ยวเข้ามาในช่องซ้ายของพยาน ช่วงท้ายของรถยนต์กระบะจึงเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ โดยรถยนต์กระบะแล่นมาทางขวาแล้วหักเข้าด้านซ้าย ทำให้ส่วนกระบะท้ายโดนรถจักรยานยนต์ที่พยานขับล้มลง แล้วคนขับรถยนต์กระบะขับรถหลบหนีไป เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายวรพจน์ ตอบทนายจำเลยถามค้านได้ความว่า พยานขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พยานเห็นรถยนต์กระบะแล่นตามมา ดังนั้นในขณะเกิดเหตุ เมื่อรถยนต์กระบะแซงรถจักรยานยนต์ของนายวรพจน์ ผู้ขับรถยนต์กระบะย่อมจะต้องใช้ความเร็วมากว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างแน่นอน นายวรพจน์เบิกความในส่วนนี้ต่อไปว่า ขณะนั้นรถยนต์กระบะยังแซงไม่พ้นรถจักรยานยนต์ของพยาน และพยานกำลังจะแซงรถยนต์โดยสารที่แล่นอยู่ด้านหน้าจึงเฉี่ยวชนกัน หลังเฉี่ยวชนพยานและเด็กชายอานนท์กระเด็นไปทางขวาบริเวณเกาะกลางถนน โดยตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า พยานได้ให้สัญญาณไฟก่อนที่จะแซงแล้ว ในข้อนี้ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายรถยนต์กระบะและจักรยานยนต์กับรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 แล้ว ปรากฏว่ารถยนต์กระบะมีร่องรอยความเสียหายจากการเฉี่ยวชนบริเวณกระบะช่วงล้อหลังด้านขวา ส่วนรถจักรยานยนต์มีความเสียหายเกิดขึ้นบริเวณล้อหลังเช่นกัน ส่วนด้านหน้าของรถทั้งสองคันไม่ปรากฏความเสียหายใดๆ ร่องรอยการเฉี่ยวชนดังกล่าวจึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของนายวรพจน์ที่ว่า รถยนต์กระบะแล่นมาทางขวาแล้วหักเข้าด้านซ้ายทำให้ส่วนท้ายของรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายวรพจน์ขับอันเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของนายวรพจน์ให้มีน้ำหนักรับฟังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันแล้ว คนขับรถยนต์กระบะรีบขับรถหลบหนีไปโดยไม่หยุดแสดงตนเพื่อให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นการพิสูจน์ว่าตนมิได้เป็นฝ่ายประมาท จึงเป็นพิรุธส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์กระบะเกรงกลัวความผิดของตน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีทั้งคำเบิกความของพยานบุคคล พยานเอกสารซึ่งสอดคล้องกับวัตถุพยาน ย่อมมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบแต่เพียงว่าช่วงเกิดเหตุนายตองหรือนายบุญชอบ ขอยืมรถยนต์กระบะดังกล่าวไปแต่ไม่อาจนำนายตองมาเบิกความให้เห็นเป็นจริงได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เมื่อขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ผู้ขับรถยนต์กระบะใช้ความเร็วมากกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แซงรถเข้ามาในช่องเดินรถด้านซ้าย ทั้งที่มีรถจักรยานยนต์ที่นายวรพจน์ขับจะแซงรถยนต์โดยสารอยู่ด้านหน้าจนเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้น เหตุรถเฉี่ยวชนกันจึงเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์กระบะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์กระบะนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปคงมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ร-2954 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุละเมิดหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะดังกล่าว และโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานโดยมีจ่าสิบตำรวจอภิสิทธิ์ เบิกความสนับสนุนได้ความสอดคล้องกันว่า โจทก์และจ่าสิบตำรวจอภิสิทธิ์ไปสอบถามครูและภารโรงที่โรงเรียนได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีรถยนต์ 2 คัน คือรถยนต์เก๋งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ ส่วนรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ย่อมทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดีและไม่น่าเบิกความโดยไม่เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ซึ่งแม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุเป็นใครดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ก็เนื่องมาจากขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนและเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันแล้วคนขับรถยนต์กระบะรีบขับรถหลบหนีไปทันที ดังนั้นโอกาสที่จะมีผู้รู้เห็นว่าใครเป็นคนขับรถยนต์กระบะดังกล่าวจึงเป็นไปโดยยาก แต่ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ภายหลังเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ใช้ปรากฏว่ามีร่องรอยเฉี่ยวชนที่กระบะช่วงล้อหลังด้านขวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ได้เจรจาขอชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายโจทก์ถึง 120,000 บาท แม้จะอ้างว่าเพื่อนำรถยนต์กระบะออกมาใช้ก็ยังมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า นายตองขอยืมรถยนต์กระบะไปใช้ในช่วงเกิดเหตุ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดตามนายตองมาเบิกความเพื่อยืนยันให้เห็นเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง ทั้งเพิ่งปรากฏชื่อและชื่อสกุลจริงซึ่งอ้างว่าเป็นชื่อของนายตองในภายหลัง อันขัดกับข้อเท็จจริงที่ได้จากจำเลยที่ 1 เองว่านายตองเป็นน้องเขยของจำเลยที่ 1 น่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดี จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่านายตองเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในช่วงเกิดเหตุ จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ในช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากโรงเรือนให้นำนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือที่จังหวัดกาญจนบุรี คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 1 โดยลำพัง ไม่มีพยานหลักฐานอื่น เช่น คำสั่งมอบหมาย หรือพยานผู้เกี่ยวข้องรู้เห็นในเรื่องดังกล่าวมานำสืบสนับสนุน ทั้งการนำนักเรียนไปเข้าค่ายย่อมมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากหากเป็นความจริงก็มิใช่เรื่องยากที่จะนำมาแสดงเพื่อสนับสนุนข้อนำสืบดังกล่าว จึงยังมีน้ำหนักน้อยเช่นเดียวกันตามพฤติการณ์พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิด และเมื่อได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ขับรถยนต์กระบะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิดเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว วันเกิดเหตุรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์และบุตรโจทก์ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันแล้ว ผู้ขับรถยนต์กระบะขับหลบหนีไป โดยจำเลยที่ 2 แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า นายตองไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงเป็นผู้ขับ และเหตุละเมิดเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขับรถยนต์กระบะเข้าไปในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันเป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทราบ และมิได้ยืนยันว่านายตองเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ และมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุละเมิดจากการขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการถือได้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นตัวการในการกระทำละเมิดเองโดยตรงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุละเมิดจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายคงมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลอาการเด็กชายอานนท์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวจริง คงมีแต่คำกล่าวอ้างลอยๆ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลอาการเด็กชายอานนท์ของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายอานนท์จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลเด็กชายอานนท์ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ ดังนั้น เมื่อเด็กชายอานนท์ถูกกระทำละเมิดโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้โดยตรง สำหรับค่าใช้จ่ายอันเป็นค่าเดินทางไปดูแลอาการเด็กชายอานนท์เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์เบิกความว่า ต้องเดินทางจากบ้านพักที่จังหวัดนครปฐมไปโรงพยาบาลธนบุรีซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางวันละ 700 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งไปและกลับ จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว เมื่อโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันค่าเสียหายในส่วนนี้ แม้ไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายก็มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

Share