คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2059/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าหากจำเลยกู้เงินโจทก์โดยผู้ร้องผู้เป็นสามีมิได้ยินยอมอนุญาต. และได้บอกล้างโมฆียะกรรมให้โจทก์ทราบจริงแล้ว. หนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ก็ย่อมไม่ผูกพันเรือนพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์. โจทก์จะนำยึดเรือนพิพาทหาได้ไม่. เว้นแต่หนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสมรส.
แม้จำเลยผู้เป็นภริยาจะต้องรับผิดในหนี้เงินกู้เป็นส่วนตัวก็ตาม. แต่ถ้าหากเรือนพิพาทเป็นสินบริคณห์แล้ว. โจทก์ก็จะยึดเรือนพิพาทเพื่อขายชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน. โจทก์จะต้องดำเนินการขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ส่วนของจำเลยออกชำระหนี้โจทก์เสียก่อน. แล้วจึงจะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับโจทก์จึงร้องขอบังคับคดีให้ยึดเรือน 1 หลังของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินไม่มีโฉนดของจำเลย ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เรือนที่โจทก์นำยึดเป็นสินบริคณห์ระหว่างจำเลยและผู้ร้องซึ่งเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หนี้สินที่จำเลยทำกับโจทก์ผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอม ผู้ร้องได้บอกล้างโมฆียะกรรมให้โจทก์รับทราบโดยชอบแล้วผู้ร้องเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมในการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยหนี้รายนี้จึงไม่ผูกพันถึงเรือนพิพาท ขอให้สั่งถอนการยึดเรือนพิพาทนี้เสีย ในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นสอบ ทนายผู้ร้องแถลงว่าเรือนพิพาทผู้ร้องกับจำเลยปลูกขึ้นระหว่างสมรส ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง แต่ไม่ตัดสิทธิในการที่จะขอให้แบ่งส่วนของผู้ร้องในทางบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรือนพิพาทเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ฉะนั้นถ้าตามคำร้องของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอม และผู้ร้องได้บอกล้างแล้วนั้นเป็นความจริงหนี้สินเงินกู้ตามฟ้องก็ไม่ผูกพันเรือนพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 38 โจทก์จะทำการยึดไม่ได้ ชอบแต่จะร้องขอศาลให้แยกสินบริคณห์เป็นส่วนของจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้ให้โจทก์ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาต่อไปจนสิ้นกระบวนความแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกาว่าเรือนพิพาทเป็นสินสมรส หาใช่สินบริคณห์และแม้จะทำการพิจารณาต่อไปก็หาเปลี่ยนลักษรณะเรือนพิพาทจากสินสมรสไปได้ไม่ เมื่อเป็นสินสมรสแล้ว โจทก์ย่อมนำยึดเรือนพิพาทได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เรือนพิพาทเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 วรรค 2 เมื่อเรือนพิพาทเป็นสินบริคณห์ และหากข้อเท็จจริงเป็นดังคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์โดยผู้ร้องมิได้ยินยอมอนุญาตและได้บอกล้างโมฆียะกรรมให้โจทก์ทราบจริงแล้วหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ย่อมไม่ผูกพันถึงเรือนพิพาท โจทก์จะนำยึดเรือนพิพาทหาได้ไม่ เว้นแต่หนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 แต่ทางพิจารณาก็ยังไม่ปรากฏเช่นนั้น อนึ่ง แม้จำเลยผู้เป็นภริยาจะต้องรับผิดในหนี้เงินกู้เป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 ก็ตาม แต่ถ้าหากเรือนพิพาทเป็นสินบริคณห์ตามคำร้องขัดทรัพย์จริงแล้ว โจทก์จะยึดเรือนพิพาทเพื่อขายชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน โจทก์จะต้องดำเนินการขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ส่วนของจำเลยออกชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 เสียก่อนแล้วจึงจะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าความจริงเป็นดังคำร้องขัดทรัพย์หรือไม่ประการใด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาต่อไปจนสิ้นกระบวนความแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีจึงชอบแล้ว พิพากษายืน.

Share