คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7461/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินโจทก์และที่ดินจำเลยอยู่ติดกันและแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเดียวกัน โจทก์ใช้ทางผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ถนนมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ บ้านและที่ดินโจทก์อยู่ในวงล้อมของที่ดินบุคคลอื่นไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ โจทก์มีทางออกสู่ถนนสาธารณะต้องผ่านที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นหรือภารจำยอมคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงสิทธิของโจทก์ว่า มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมบนที่ดินจำเลย จากที่ดินโจทก์เพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ และในคำขอท้ายฟ้องก็ระบุให้จำเลยเปิดทางพิพาทให้โจทก์ใช้ได้อย่างเดิม ฟ้องโจทก์บรรยายไว้ครบทั้งเรื่องทางจำเป็นและทางภารจำยอมโดยไม่ขัดกัน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมแล้ววินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น การแบ่งแยกหรือแบ่งโอนทำให้ที่ดินโจทก์ซึ่งแบ่งออกมาไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินซึ่งเป็นทางจำเป็นบนที่ดินจำเลยซึ่งเป็นแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10875จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6919 ที่ดินทั้งสองแปลงติดต่อกัน ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยที่ดินทั้งสองแปลงแบ่งแยกออกมาจากโฉนดเดียวกัน มีทางเดินและทางรถยนต์บรรทุกดินทรายกว้างประมาณ 3.75 เมตร ยาวประมาณ 250 เมตร โจทก์ใช้เส้นทางนี้ออกสู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2530 จำเลยทั้งสองปลูกบ้านในที่ดิน จำเลยที่ 1 โดยปลูกบ้านทับทางเดินดังกล่าว แล้วทำรั้วบ้านให้เหลือทางแก่โจทก์และชาวบ้านเดินออกสู่ทางสาธารณะกว้างประมาณ 75 เซนติเมตร ทั้งบ้านและที่ดินโจทก์อยู่ในวงล้อมที่ดินบุคคลอื่นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือถนนใดได้เลย โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะต้องผ่านที่ดินจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอม ต่อมาวันที่ 20พฤษภาคม 2532 จำเลยทั้งสองปิดทางเดินนี้อีก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางเดินและเปิดให้ใช้ทางเดินเช่นเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการสั่งให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกมีอำนาจรื้อถอนได้ หรือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและสั่งว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6919 กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตลอดพื้นที่ (ประมาณ 10 เมตร) เป็นทางภารจำยอมตามกฎหมายให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนภารจำยอมทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 10875แบ่งแยกออกจากโฉนดเลขที่ 6919 ก่อนแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 6919หาได้มีทางเดินหรือทางรถยนต์ออกไปสู่ทางสาธารณะแต่อย่างใดไม่โจทก์ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 อย่างเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ให้ผู้ใดผ่านเข้าออกอย่างทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น แม้บางครั้งมีการเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ก็เป็นการอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือโดยการถือวิสาสะเท่านั้น โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดินจำเลยที่ 1 เป็นทางเข้าออกที่ดินจำเลยที่ 1 จึงไม่มีทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นสำหรับที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางพิพาทและเปิดทางพิพาทกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ทางทิศตะวันตก ให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะได้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือภารจำยอม และวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อนอยู่เห็นว่าฟ้องโจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดระบุไว้ชัดว่า ทางจำเป็นขอให้เปิดทางภารจำยอม และบรรยายฟ้องว่า ที่ดินโจทก์และที่ดินจำเลยอยู่ติดกัน และแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเดียวกัน เมื่อโจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินโจทก์ก็ได้ใช้ทางผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ออกสู่ถนนตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 2 บ้านและที่ดินโจทก์อยู่ในวงล้อมของที่ดินบุคคลอื่นไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ โจทก์มีทางออกสู่ถนนสาธารณะต้องผ่านที่ดินจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทางจำเป็นหรือภารจำยอม คำฟ้องของโจทก์ระบุถึงสิทธิของโจทก์ ว่ามีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมบนที่ดินจำเลยที่ 1 จากที่ดินโจทก์เพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะและในคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ก็ระบุว่าให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทให้โจทก์ใช้ได้อย่างเดิมแม้ไม่ระบุว่าเปิดทางจำเป็นก็ตาม ฟ้องโจทก์บรรยายไว้ครบทั้งเรื่องทางจำเป็นและทางภารจำยอมโดยไม่ขัดกัน ทั้งจำเลยก็เข้าใจและให้การต่อสู้คดีไว้ว่าทางดังกล่าวไม่ใช่ทางจำเป็นหรือทางภารจำยอม ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมจึงไม่เป็นการนอกประเด็นในคำฟ้องและคำให้การแล้ววินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องนอกประเด็นแล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คู่ความต่างนำสืบจนคดีเสร็จสำนวนมาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ สำหรับประเด็นข้อนี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 10875 ของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6919 ของจำเลยที่ 1 เมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 6919 ทางด้านทิศตะวันออกยังคงติดถนนสาธารณะ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 10875อยู่ถัดมาไม่มีส่วนใดติดถนนสาธารณะ ทางพิพาทกว้าง 1 เมตรยาวประมาณ 10 เมตร อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 6919 ของจำเลยที่ 1จากทางทิศตะวันตกซึ่งจดที่ดินโฉนดเลขที่ 10875 ของโจทก์ไปทางทิศตะวันออกจนจดถนน และได้ความจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10875 อยู่ในวงล้อมของที่ดินแปลงอื่น การเข้าออกสู่ทางสาธารณะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่น กรณีเช่นนี้ถือว่าการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนทำให้ที่ดินโจทก์ซึ่งแบ่งออกมาไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินซึ่งเป็นทางจำเป็นบนที่ดินจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกสู่ทางสาธารณะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางพิพาทให้แก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share