แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ที่บัญญัติว่า รายรับหมายความว่าเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆอันมีมูลค่า ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร เนื่องจากการประกอบการค้า นั้น หมายถึงรายรับเนื่องจากการ ประกอบการค้าประเภททั่วไป ไม่รวมถึงรายรับจากการค้าประเภท ธนาคาร ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นในมาตรา 79(3)
ดอกเบี้ยอันเป็นรายรับจากการค้าประเภทธนาคาร ตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 79(3)(ก) นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ได้รับชำระแล้ว คือดอกเบี้ยรับชำระจริงใน เดือนใดจึงจะถือว่าเป็นรายรับของเดือนนั้น เมื่อดอกเบี้ย ที่ธนาคารโจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้เพียงแต่ถึงกำหนดชำระ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระจริง จึงยังไม่เป็นรายรับตาม มาตรา 79(3)(ก) ในอันที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าในแต่ละเดือนนั้น (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2527)
เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ไม่ว่าจะ เป็นเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น ต้องเป็นสิ่ง ที่ได้รับมาแล้ว มิใช่เป็นแต่เพียงมีสิทธิที่จะได้รับ ฉะนั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้ แม้เป็นดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้ รับชำระมาจริง จึงยังไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา 39 ที่จะ นำไปคิดเป็นกำไรสุทธิซึ่งได้มาจากกิจการของโจทก์ตามมาตรา 65
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยอ้างว่าโจทก์นำรายรับค่าดอกเบี้ยไปเสียภาษีการค้าไว้ไม่ครบถ้วนและมิได้นำรายรับค่าดอกเบี้ยมาคำนวณเป็นรายรับในการเสียภาษีเงินได้ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการไม่ชอบขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์เสีย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้วิธีการปฏิบัติทางบัญชีแบบเกณฑ์สิทธิเงินค่าดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดจะต้องชำระแล้ว แม้ยังไม่ได้รับมาจริง โจทก์ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในเรื่องภาษีการค้านั้น จำเลยฎีกาว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้เป็นดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหรือค้างชำระย่อมเป็นเงินที่พึงได้รับหรือควรได้รับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙จึงเป็นรายรับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ ที่บัญญัติว่า “รายรับหมายความว่าเงินทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรเนื่องจากการประกอบการค้า” นั้นหมายถึงรายรับเนื่องจากการประกอบการค้าประเภททั่วไป ส่วนรายรับจากการค้าประเภทการธนาคารนั้น ในมาตรา ๗๙ แห่งประมวลรัษฎากรนั้นเองได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า “เว้นแต่ ฯลฯ (๓) รายรับจากการค้าประเภทธนาคารหมายความว่า (ก) ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่เรียกเก็บและ (ข) ฯลฯ” ดังนั้น เพียงแต่ดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหรือค้างชำระเนื่องจากการค้าประเภทธนาคาร จะถือว่าเป็นเงินที่ถึงได้หรือควรได้รับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ คดีคงมีปัญหาว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารโจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้คือดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมและรับจำนองซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วในแต่ละเดือน แต่ยังไม่ได้รับชำระจริง จะถือเป็นรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก) อันจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าในแต่ละเดือนนั้นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมิตที่ประชุมใหญ่เห็นว่าดอกเบี้ยอันเป็นรายรับจากการค้าประเภทธนาคารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก) นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ได้รับชำระแล้วคือ ดอกเบี้ยรับชำระจริงในเดือนใดจึงจะถือว่าเป็นรายรับของเดือนนั้นเมื่อดอกเบี้ยที่ธนาคารโจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้เพียงแต่ถึงกำหนดชำระแล้วแต่ยังไม่ได้รับชำระจริง จึงยังไม่เป็นรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก)ในอันที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าในแต่ละเดือนนั้น
ในเรื่องภาษีเงินได้นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ส่วนเงินได้พึงประเมิน มาตรา ๓๙ ให้หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน บทกฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเงินได้อันจะนำมาคำนวณภาษีนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นก็ดี ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว มิใช่เป็นแต่เพียงมีสิทธิที่จะได้รับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นมาในภายหน้า ซึ่งในขณะครบรอบระยะเวลาบัญชี ยังไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๓๙ ที่จะนำไปคิดกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการที่กระทำตามมาตรา ๖๕ แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้ แม้เป็นดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระมาจริง จึงยังไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๓๙ ที่จะนำไปคิดเป็นกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการของโจทก์ตามมาตรา ๖๕
พิพากษายืน