คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ มาตรา 14 วรรคสอง มิได้ใช้ถ้อยคำแต่เพียงว่า “เวลาราชการ” แต่ใช้คำว่า “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า เพราะ “เวลาราชการ” นั้น หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ ส่วน “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ” หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ รวมทั้งเวลาราชการที่ไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ ด้วย เช่น มาตรา 24 วรรคสอง ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นทวีคูณเป็นต้นซึ่งไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ด้วยเหตุนี้ มาตรา 14 วรรคสอง จึงไม่ใช้ถ้อยคำว่า”ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” แต่ใช้ว่า “ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” เพื่อให้มีความหมายกว้างและเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการผู้ลาออกจากราชการนั่นเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีเวลาราชการจริง ๆ 17 ปี 10 เดือน 30 วัน และมีเวลาราชการทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก อีก 6 ปี 9 เดือน 27 วัน หักวันลากิจลาป่วยระหว่างเวลาราชการทวีคูณแล้ว รวมเป็นเวลาราชการทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน18 วัน อันเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามนัยดังกล่าวแต่โดยที่ มาตรา 4 ประกอบด้วยมาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติให้นับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่จำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี ซึ่งโจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญที่เป็นเศษของปีถึงครึ่งปี คือ 7 เดือน 18 วัน จึงต้องนับเป็นหนึ่งปี เมื่อรวมกับ 24 ปีแรก จึงเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญ
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญซึ่งขณะยื่นฟ้อง ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้แน่นอนโดยโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยรับราชการเป็นข้าราชการตุลาการและโจทก์ได้ลาออกจากราชการโดยมีเวลารับราชการจริง ๆ 17 ปี 10 เดือน 30 วัน และมีเวลาราชการทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกอีก 6 ปี 9 เดือน27 วัน เมื่อรวมกันและหักวันลากิจ ลาป่วยระหว่างเวลาราชการทวีคูณแล้วรวมเป็นเวลา 24 ปี 7 เดือนเศษ ซึ่งตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติว่า เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี โจทก์จึงมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ25 ปีบริบูรณ์ และมีสิทธิได้รับบำนาญปกติด้วยเหตุรับราชการนานตามมาตรา 9, 14 โจทก์ได้ทำเรื่องราวขอรับบำนาญต่อกระทรวงยุติธรรมเจ้าสังกัดต่อมากรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า โจทก์มีเวลาราชการไม่ครบ 25 ปีบริบูรณ์ ไม่มีสิทธิได้รับบำนาญ คงมีสิทธิได้รับบำเหน็จเหตุทดแทนอย่างเดียว โจทก์ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมยืนยันเหตุผลตามกฎหมายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญ ขอให้กระทรวงยุติธรรมชี้แจงให้จำเลยทบทวน ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือถึงจำเลยพร้อมกับส่งสำเนาหนังสือของโจทก์ไปให้จำเลยพิจารณา และต่อมากระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าที่กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายบำเหน็จให้โจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญ และขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งตามสิทธิให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์มีสิทธิได้รับแต่เพียงบำเหน็จชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะการลาออกจากราชการเพื่อขอรับบำนาญปกติด้วยเหตุรับราชการมานานนั้นต้องมีเวลารับราชการครบ 25 ปีบริบูรณ์จริง ๆแต่โจทก์มีเวลาราชการแท้ ๆ เพียง 17 ปี 10 เดือน 30 วัน และมีเวลาทวีคูณซึ่งหักวันลาป่วยลากิจในระหว่างเวลาทวีคูณ เหลือเวลาทวีคูณ 6 ปี 8 เดือน18 วัน รวมแล้วโจทก์มีเวลาราชการไม่ครบ 25 ปีบริบูรณ์ อนึ่ง โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดชี้สองสถานและสืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญราชการ พ.ศ. 2494 บัญญัติว่า “ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้วประสงค์จะลาออกจากราชการ ก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานได้”

คำว่า “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ” นั้น มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ให้บทนิยามไว้ว่า”หมายความว่าเวลาราชการที่ข้าราชการรับราชการมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือนตามเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ “ศาลฎีกาได้พิจารณาบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้โดยตลอดแล้ว ปรากฏว่าพระราชบัญญัตินี้ได้บัญญัติเกณฑ์และวิธีการไว้ในลักษณะ 1 หมวด 2 ว่าด้วยเวลาราชการและการนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 1 หมวด 2 ว่าด้วยเวลาราชการและการนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ

ในลักษณะ 1 หมวด 2 ว่าด้วยเวลาราชการและการนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนี้ ได้บัญญัติถึงเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเวลาราชการและเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญไว้หลายประการโดยเฉพาะมาตรา 24 วรรคสองบัญญัติว่า “นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ข้าราชการผู้ใดประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตใดที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณ”

และมาตรา 29 วรรคแรกบัญญัติว่า “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี”ดังนั้น การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญจึงต้องนับตามเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสองดังกล่าวข้างต้นมิได้ใช้คำแต่เพียงว่า “เวลาราชการ” เท่านั้น แต่ใช้คำว่า “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “เวลาราชการ” เพราะ”เวลาราชการ” นั้น หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ เท่านั้น ส่วน “เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ” นั้นหมายถึงเวลาราชการจริง ๆ และรวมทั้งเวลาราชการที่ไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ ด้วย เช่น มาตรา 24 วรรคสองให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นทวีคูณเป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญด้วยเหตุนี้มาตรา 14 วรรคสอง จึงไม่ใช้ถ้อยคำว่า “ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” แต่ใช้ถ้อยคำว่า “ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความหมายกว้างและเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการผู้ลาออกจากราชการนั่นเอง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น โจทก์มีเวลาราชการจริง ๆ รวม 17 ปี10 เดือนน 30 วัน และมีเวลาราชการทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก6 ปี 9 เดือน 27 วัน เมื่อรวมกันและหักวันลากิจ ลาป่วยระหว่างเวลาราชการทวีคูณแล้วเป็นเวลาราชการทั้งสิ้น 24 ปี 7 เดือน 18 วัน อันเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามนัยดังกล่าวข้างต้น แต่โดยที่มาตรา 4ประกอบด้วยมาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติให้นับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี โจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญที่เป็นเศษของปีถึงครึ่งปี คือ7 เดือน 18 วัน จึงต้องนับเป็นหนึ่งปี เมื่อรวมกับเวลา 24 ปีแรกจึงเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้วตามมาตรา 14 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญ

ที่จำเลยโต้แย้งมาในคำแก้ฎีกาว่าคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญซึ่งขณะยื่นฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้แน่นอน โดยโจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หาใช่คดีมีทุนทรัพย์ไม่ โจทก์เสียค่าธรรมเนียมอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ถูกต้องแล้ว

พิพากษากลับ เป็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญ ให้จำเลยดำเนินการตามสิทธิของโจทก์ต่อไป

Share