แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษามิได้อนุญาตให้ฎีกา จึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 การแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขมาก จำเลยย่อมสามารถ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วแต่มิได้กำหนดโทษ จำเลยไว้ด้วยว่าจะลงโทษจำเลยเพียงใด ดังนั้นคำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว จึงมิชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำหรับในฐานความผิดตาม มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก อันเป็นความผิดฐาน ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้ไว้ และปัญหา ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 51)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง มาตรา 268 มาตรา 326และมาตรา 328 การที่ จำเลยปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมกับหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงต้องลงโทษตาม มาตรา 264 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน กับให้ จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่นจำนวน 1 ฉบับ เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 สำหรับความผิดของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ให้ลงโทษเฉพาะมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 และความผิด ตามมาตรา 268 วรรคแรก กับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษ หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็น ไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 48)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 49)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษ จำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326นั้น เป็นการแก้เฉพาะความผิดบางส่วนซึ่งเป็นผลดีแก่จำเลยและมิใช่ กรณีเพิ่มเติมโทษจำเลย คู่ความย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532มาตรา 12 ฎีกาของจำเลยล้วนแต่เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจใน การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ย่อมต้องห้ามฎีกาโดยกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง