แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โฉนดที่พิพาทออกทับที่ของโจทก์ จึงเป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบแม้จะมีการโอนทางทะเบียนกี่ครั้งก็ตาม ผู้รับโอนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะผู้ออกโฉนดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ผู้รับโอนคนต่อมาแม้จะเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
โฉนดที่พิพาทออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ไม่มีคำขอศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่พิพาทได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องแย้ง และเพิกถอนโฉนดเลขที่ 936 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไม่เพิกถอนโฉนดที่พิพาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจท์ จำเลยอ้างว่าได้ออกโฉนดเป็นของจำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ขอให้พิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสวัสดิ์ อินทุภูติ มีการโอนขายมาจนถึงจำเลย จำเลยกับนายแจ้ง สมงาม รับซื้อไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต จึงฟ้อง แย้งให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่พิพาท ต่อมาจำเลยแถลงรับว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 โจกท์เข้าทำกินโดยปลูกพืชผลและปลูกกระท่อมในที่พิพาท จนถึงปี พ.ศ. 2508 จึงมีการออกโฉนดที่พิพาทแล้วโอนขายทางทะเบียนเรื่อยมา สุดท้ายจำเลยกับนายแจ้ง สมงาม รับซื้อไว้ ข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยย่อมฟังได้ว่า โฉนดที่ดินที่ออกมานั้นออกทับที่ของโจทก์ จึงเป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบแม้จะมีการโอนทางทะเบียนกี่ครั้งก็ตาม ผู้รับโอนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะนายสวัสดิ์ อินทุภูติ ผู้ออกโฉนดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ผู้รับโอนคนต่อมาแม้จะเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนโฉนดที่พิพาทที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ไม่มีคำขอ ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้บังคับคดี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ