แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 240, 244 และ 341 เมื่อปรากฏว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป โจทก์จึงต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าว แต่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 244 และ 351 ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน จึงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 244, 341, 32, 33, 91, 92 ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 237,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 241, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเงินตรา จำคุก 10 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งที่ได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอม จำคุก 1 ปี ฐานฉ้อโกง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 12 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 237,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 344 และ 341 โดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หากจำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 เมื่อปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ว่า จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงให้รอฟังคำพิพากษาและได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟังในวันนั้นเอง โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วโจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ดังกล่าว โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อความผิดใน 2 มาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 และ มาตรา 341 ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิด 2 มาตราดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1714/2545 ของศาลแขวงตลิ่งชัน และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และให้พ้นโทษไปแล้วหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลแขวงตลิ่งชันจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ให้จำคุก 1 ปี และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ยกคำขอเพิ่มโทษจำเลย ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 237,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์