คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ และศาลชั้นต้นได้ส่งสัญญาประนีประนอมยอมความและรายงานกระบวนพิจารณาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวกลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาให้ยกฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์จำนวนเงิน 57,302.06 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด พะเยาเจริญยนต์ (1996) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำคุก 2 ปี กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคารถจักรยานยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเงิน 57,302.06 บท แก่โจทก์ร่วม ยกคำขอให้นับโทษต่อเพราะคดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลยังมิได้มีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏหลักฐานในสำนวนคดีว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2549 โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์และศาลชั้นต้นได้ส่งสัญญาประนีประนอมยอมความและรายงานกระบวนพิจารณาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวกลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้โจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นสมควรวินิจฉัยคำขอถอนคำร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ เมื่อการถอนคำร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป คดีจึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมอีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share