แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการล้มละลาย ห้างจำเลยที่ 1 ต้อง เลิกกันและต้อง มีการชำระบัญชี ซึ่ง ห้างยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โดย จำเลยที่ 2ในฐานะ หุ้นส่วนผู้จัดการย่อมเป็นผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12491251 และมีอำนาจแก้ต่างว่าต่าง ในนามห้างได้ตาม มาตรา 1259(1) โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1โดย จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการให้รับผิดในหนี้ภาษีอากรได้ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2514 ถึง วันที่ 7 กันยายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2528 ก่อนครบกำหนด 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 3 ออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 3 จึงยังคงต้อง รับผิดในหนี้ของห้างอยู่ ตาม นัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10681080 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ครบถ้วน ส่วนที่ยื่นไว้ก็ปรากฏว่าแสดงรายการการค้าต่ำ กว่ากำหนดรายรับขั้นต่ำตามที่กองภาษีการค้ากำหนดไว้เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้มาไต่สวนกับให้ส่งมอบเอกสารที่ได้ดำเนิน กิจการมาให้ตรวจสอบ แต่ จำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสารเจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2521 กับประเมินภาษีในปี พ.ศ. 2522,2523 แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบฉะนั้น ภาษีการค้าที่เจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงเป็นหนี้เด็ดขาดตาม นัยประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ 88 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี พ.ศ. 2519 ถึง 2521เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ มีหมายเรียกมาไต่สวนและให้ส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบ แต่ จำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสารเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ ประเมินและแจ้งผลการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจึงเป็นหนี้เด็ดขาด ตาม นัยประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1)21 เมื่อรวมเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลกับภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,278,593.69 บาทจำนวนเงินดังกล่าวเป็นหนี้แน่นอนและไม่น้อยกว่า 500,000 บาทโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายได้ .
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บเงินภาษีต่าง ๆตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการภัตตาคารจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2526 จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฏาคม 2514 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2526 จึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวด้วย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม2514 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการและจดทะเบียนการค้า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้า มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหมายเรียกให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารและสมุดบัญชีให้มารับทำการตรวจสอบภาษีอากร จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกแล้วไม่ได้ไปพบเจ้าพนักงานประเมินแต่อย่างใด จากการตรวจสอบพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 1ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและยังพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยแสดงรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดรายรับไว้อีกด้วย เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำเอกสารสมุดบัญชีหรือหลักฐานอื่นใดทำการชี้แจงให้เป็นการถูกต้องได้ว่าจำเลยที่ 1 มียอดรายรับตามที่แสดงไว้ในแบบแสดงการเสียภาษีการค้าที่ยื่นไว้ จึงได้ทำการประเมินเสียใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตามความเป็นจริง ตามมาตรา 71(1), 87(3), 87 ทวิ88, 89(2) แห่งประมวลรัษฎากร คือ
ก. ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล
รวมภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลระหว่างปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 7,448,937.69 บาท
ข. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ระหว่างปี พ.ศ. 2519 ถึงพ.ศ. 2521 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 829,656 บาท
รวมเงินภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตาม ข้อ ก. และ ข. แล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น8,278,593.69 บาท โจทก์ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ไม่อาจกระทำได้ เพราะจำเลยที่ 1 เลิกกิจการปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลบหนี โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ถึง 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่ชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอนเกินกว่า 500,000 บาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนจากจำเลยที่ 3มาเป็นจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2526 ในรอบระยะเวลาปีบัญชี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่โจทก์มิได้ใช้อำนาจออกมาหยเรียกจำเลยมาไต่สวน และออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสั่งให้จำเลยยื่นรายการหรือพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 โจทก์ประเมินภาษีขึ้นเอง โดยไม่ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้อง มูลหนี้ตามฟ้องเป็นมูลหนี้ที่ไม่แน่นอน เพราะเกิดขึ้นจากการประเมินคามความเข้าใจของโจทก์โดยไม่คำนึงถึงรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 และสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น การประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่ถูกต้องและไม่แน่นอน จำเลยทั้งสามไม่มีมูลหนี้ตามทีทโจทก์ฟ้องเพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 1 ได้ปิดสถานประกอบธุรกิจการค้า โจทก์ก็ทราบ เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยังไม่ได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และชำระบัญชี แต่จำเลยทั้งสามก็มิได้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ไม่เป็นเหตุให้โจทห์ประเมินภาษีแล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 2 ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.191/2524 ของศาลชั้นต้น ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณษแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรามเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความนั้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้ตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นฎีกาเป็นประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ห้างจำเลยที่ 1 ต้องเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5) ประกอบมาตรา 1080วรรคหนึ่ง อำนาจต่าง ๆ อยู่ที่ผู้ชำระบัญชีต้องฟ้องจำเลยที่ 1โดยผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดทุกคนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนการฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ประเด็นที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ในประเด็นนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการล้มละลาย ห้างจำเลยที่ 1 ต้องเลิกกัน และต้องมีการชำระบัญชีซึ่งห้างยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249, 1251 ฉะนั้นจำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ชำระบัญชีและผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามของห้างได้ตามมาตรา 1259(1) โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการให้จำเลยรับผิดในหนี้ภาษีอากรได้
ประเด็นต่อมาคือโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฏาคม 2514ถึงวันที่ 7 กันยายน 2526 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 จำเลยที่ 3ทำหน้าที่หุ้นส่วนผู้จัดการวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2526จึงพ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2528 ก่อนครบกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 จึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ของห้างอยู่ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068, 1080 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะยังคงเป็นหุ้นส่วนซึ่งจำกัดความรับผิดในห้างจำเลยที่ 1 ต่อมาก็ตาม
ประเด็นต่อไปมีว่า การประเมินของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ครบถ้วน ส่วนที่ยื่นไว้ก็ปรากฏว่า แสดงรายการการค้าต่ำกว่ากำหนดรายรับขั้นต่ำที่กองภาษีการค้ากำหนดไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหนังสือเชิญจำเลยที่ 1มาพบ และหมายเรียกให้มาไต่สวนกับให้ส่งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินการมาให้ตรวจสอบปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5, จ.6, จ.31 แต่จำเลยที่ 1ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสาร เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย จ.14 แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบตามเอกสารหมาย จ.15-จ.17 กับประเมินภาษีในปีพ.ศ. 2522, 2523 แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วย ตามเอกสารหมายจ.18-จ.20 จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ฉะนั้นภาษีการค้าที่เจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงเป็นภาษีเด็ดขาด ตามนัยประมวลรัษฎากร มาตรา 87ทวิ, 88 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินภาษีที่เจ้าพนักงานประเมิน ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2519 ถึง 2521 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหมายเรียกมาไต่สวนและให้ส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสาร เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินและแจ้งผลการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21-จ.24 จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ฉะนั้นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นหนี้เด็ดขาดตามนัยประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1), 21เมื่อรวมเงินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,278,593.69บาท จำนวนเงินดังกล่าวเป็นหนี้แน่นอน และไม่น้อยกว่า 500,000 บาทโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายได้ จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างปีที่ประเมินภาษีต้องรับผิดในหนี้ของห้างดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.