คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038-2041/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. และ จ. จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนให้มาชุมนุมกัน ณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้นและร่วมกล่าวโจมตีขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้นจากผู้มาร่วมชุมนุม จนคนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และขว้างปาและวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สำหรับสำนวนแรก จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116, 215, 84, 85, 218, 358, 360, 340 ลงโทษตามมาตรา 116 จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 84, 85, 218 จำคุก 20 ปีตามมาตรา 340 จำคุก 12 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 358, 360จำคุก 3 ปีลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 กับจำเลยในสำนวนอื่นให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุกคนละ 2 ปี ส.ต.อ. ศิริจำเลยในสำนวนที่สองมีความผิดตามมาตรา 335 วรรคสอง จำคุก 3 ปี นายประดิษฐ์และนางจงเจริญ จำเลยในสำนวนที่สามและที่สี่มีความผิดตามมาตรา 116,215 ลงโทษตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกจำเลยในสำนวนที่สอง ที่สาม และที่สี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์และนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยในสำนวนที่สามและที่สี่นั้น ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองนี้รวมกันไป ซึ่งเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองนี้ โจทก์มีสิบตำรวจโทเจริญ อุชุภาพมาเบิกความว่า ในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ได้รับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมู่อยู่ที่กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในตอนค่ำได้สมัครเรียนวิชาครูที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชด้วย ในวันที่ 17 มกราคม 2518 ก่อนวันเกิดเหตุคดีนี้ได้มีการประชุมกัน ที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชโดยมีนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ นายจงเจริญ ผลศิริและนายสุชาติ กาญจนภักดิ์ จำเลย ซึ่งเป็นอาจารย์ของวิทยาลัย นายสุนทร โสภามัง นายกองค์การนักศึกษาภาคค่ำ นายวิระพงษ์ สุพรรณวงศ์ ตัวแทนนักศึกษาปีที่ 2 กับนักศึกษาจากกรุงเทพอีก 3-4 คน ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 18 ก็มีประกาศติดในบริเวณวิทยาลัยชักชวนให้นักศึกษามาประชุมที่โรงอาหารในวิทยาลัย ในวันที่ 20 เวลา 17 นาฬิกา ตนจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบพลตำรวจตรีวิจิตร ไตรสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 ได้มีคำสั่งให้รายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบทุกระยะ ครั้นถึงวันที่ 20 มกราคม 2518เวลา 17 นาฬิกา ก็มีนักศึกษามาประชุมที่โรงอาหารประมาณ 2,000 คนตนได้ร่วมประชุมด้วยโดยมีนายสุนทร โสภามังเป็นประธานที่ประชุม นายสุนทรได้ชักชวนให้นักศึกษาไปร่วมชุมนุมกันที่สนามหน้าเมืองในวันที่ 21มกราคม 2518 เวลา 9 นาฬิกา เพื่อทำการซักฟอกนายคล้าย จิตพิทักษ์ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องการควบคุมราคาข้าวสารในราคาสูงเป็นการช่วยพ่อค้า ทำการแจกสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไม่ทั่วถึง ไม่เอาใจใส่ดูแลผู้ประสบภัย และไม่ช่วยเหลือนักศึกษาจากกรุงเทพที่นำสิ่งของไปแจกผู้ประสบอุทกภัย แล้วได้เชิญนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญผลศิริ จำเลย ซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยขึ้นพูดต่อนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุม ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้พูดต่อนักศึกษาถึงหัวข้อเรื่องที่จะไปทำการซักฟอกนายคล้ายเช่นเดียวกับนายสุนทร ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงจะไปทำการซักฟอกนายคล้ายในวันรุ่งขึ้นตามที่นายสุนทรชักชวน ซึ่งในวันรุ่งขึ้นนี้ได้มีรถยนต์บรรทุกนักศึกษาชักชวนให้ประชาชนไปร่วมกันซักฟอกนายคล้ายที่สนามหน้าเมือง นายประดิษฐ์ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยก็ไปร่วมชุมนุมที่สนามหน้าเมืองด้วย จำเลยทั้งสองดังกล่าวกับพวกตกลงให้นายสุรชัย แซ่ด่าน เป็นโฆษก นายสุรชัยกับพวกได้กล่าวโจมตีนายคล้าย ครั้นเวลา 15 นาฬิกา นายคล้ายก็มาถึงที่ชุมนุม ซึ่งได้มีนายสุรชัยกับพวกทำการซักถามนายคล้ายถึงเรื่องการควบคุมราคาข้าวสารให้แพงขึ้น ในเวลา 17 นาฬิกา นายคล้ายจึงได้กลับไป แล้วนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ก็ได้เรียกประชุมตัวแทนนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ ที่มาชุมนุมรวมทั้งนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลย นายสุนทร นายสุชาติ กาญจนภักดิ์ จำเลย นายปัญญา พรหมณะ นายสุรชัย จัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยขึ้นโดยมีนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย เป็นหัวหน้า และสิบตำรวจโทเจริญกับพวกที่มาชุมนุมดังกล่าวข้างต้นเป็นกรรมการ และศูนย์รักษาความปลอดภัยนี้ได้จัดตั้งหน่วยฟันเฟื่องขึ้นเพื่อรักษาความสงบและต่อต้านขัดขวางฝ่ายตรงข้าม โดยให้มีท่อนเหล็กท่อนไม้ตามแต่จะหาได้เป็นอาวุธ และแบ่งออกเป็นหน่วยย่อย โดยหน่วยหนึ่งทำหน้าที่เฝ้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยหนึ่งทำหน้าที่รักษาบริเวณสนามหญ้าหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน่วยหนึ่งรักษาบริเวณสนามหน้าเมือง อีกหน่วยหนึ่งทำหน้าที่ติดตามนายชลอ วนะภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย หน้าที่ของแต่ละหน่วยดังกล่าวนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์จำเลย เป็นผู้มอบหมาย ต่อมาหน่วยฟันเฟืองได้มีมติให้ทำการส่งวิทยุไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีหรือบุคคลที่รัฐมนตรีมอบหมายไปกับผู้ชุมนุมเพื่อสั่งโยกย้ายนายคล้ายไปจากจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย เป็นผู้มอบข้อความให้สิบตำรวจโทเจริญในฐานะที่เป็นกรรมการไปดำเนินการส่งทางวิทยุ ครั้นวันที่ 22 มกราคม2518 หน่วยฟันเฟื่องได้เข้าไปในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด นายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย ก็เข้าไปด้วย นายประดิษฐ์ได้แจ้งให้สิบตำรวจโทเจริญทราบว่า ในวันที่ 22 นี้จะใช้วิธีรุนแรงตามลำดับคือจะทำการปิดถนน จะยึดจวนผู้ว่าราชการจังหวัด และจะทำลายจวนผู้ว่าราชการจังหวัด สิบตำรวจโทเจริญได้รายงานให้พลตำรวจตรีพิงพันธ์ เนตรรังษี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 ในขณะนั้นทราบซึ่งต่อมาในเวลาใกล้ชิดกันนั้นพวกหน่วยฟันเฟื่องมีท่อนไม้ท่อนเหล็กเป็นอาวุธก็ทำการปิดถนน ห้ามรถยนต์ผ่านไปมา สิบตำรวจโทนิชน ซื่อตรงเบิกความว่า ในวันที่ 21 มกราคม 2518 ได้เห็นนายจงเจริญ ผลศิริและนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลยกับพวกจับกลุ่มกันอยู่ที่บริเวณพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ปรึกษากันจัดตั้งหน่วยฟันเฟื่องขึ้นเพื่อรักษาความสงบและต่อต้านขัดขวางฝ่ายตรงข้าม ว่าที่ร้อยตรีเอกวิทย์ ยอดระบำ เบิกความว่าในวันที่ 21 มกราคม 2518 เวลา 10 นาฬิกา ได้เห็นนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยเดินนำหน้ากลุ่มนักศึกษาไปที่ศาลาประชาคมเพื่อจะชุมนุมกัน เมื่อเห็นตนทำงานอยู่ที่หน้าศาลาประชาคม นายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยก็สั่งให้นักเรียนนักศึกษาไปชุมนุมกันที่สนามบาสเกตบอล จ่าสิบตำรวจไสว มาศมาลัยเบิกความว่าในวันที่ 22 มกราคม 2518 เวลาประมาณ 10.30 นาฬิกา ได้เห็นนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย เป็นผู้เขียนหนังสืออนุญาตเอกสารหมาย จ.2 ให้ร้อยตำรวจเอกดำริห์ พรหมสุวรรณ นำรถยนต์ผ่านถนนที่หน่วยฟันเฟื่องทำการปิดกั้นอยู่ไปได้ นายอรุณ รุจิกัณหะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะเกิดเหตุ เบิกความว่าในวันที่ 22 มกราคม 2518เวลาประมาณ 2 นาฬิกานายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย ซึ่งเป็นคนหนึ่งในบรรดาตัวแทนของผู้ชุมนุมได้นำข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ป.จ. 1 ซึ่งนายประดิษฐ์ได้ร่วมลงชื่อด้วยไปยื่นต่อนายอรุณในฐานะเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเดินทางไปราชการที่กระทรวงมหาดไทย จ่าสิบตำรวจสมเกียรติ วิมุติตานนท์เบิกความว่า ในวันที่ 21 มกราคม 2518 ในขณะที่มีการชุมนุมกันที่สนามหน้าเมืองได้เห็นนายจงเจริญ ผลศิริ และนายประดิษฐ์ทองคณารักษ์ จำเลย ขึ้นไปพูดโจมตีผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องการกำหนดราคาข้าวสารแพงและเรื่องการช่วยเหลือราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และได้เห็นจำเลยทั้งสองนั้นปรึกษากับนายสุรชัย แซ่ด่าน กับพวก ในเรื่องการตั้งหน่วยฟันเฟื่องพันตำรวจเอกประเวศ บุญศรีโรจน์ รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะเกิดเหตุเบิกความว่า ในวันที่ 21 มกราคม2518 ได้เห็นนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยขึ้นไปพูดโจมตีและขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ก็ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ. 1 ว่า นายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลยกับพวก ซึ่งอ้างว่าเป็นคณะกรรมการตัวแทนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ยื่นข้อเสนอต่อนายอรุณ รุจิกัณหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2518 ขอเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทยมาพบกับคณะกรรมการที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมลงนามกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ย้ายนายคล้าย จิตพิทักษ์ผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 7 วัน และทางราชการต้องไม่เอาความผิดแก่ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ร่วมกันประท้วงในครั้งนี้ ส่วนหนังสืออนุญาตที่นายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลย อนุญาตให้ร้อยตำรวจเอกดำริห์ พรหมสุวรรณนำรถยนต์ผ่านเส้นทางที่หน่วยฟันเฟื่องทำการปิดกั้นก็มีข้อความว่ารถตำรวจรักษาการณ์ 8194 ให้ผ่านด้วย ซึ่งนายประดิษฐ์ได้ลงชื่อไว้ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 พยานโจทก์ทุกคนดังกล่าวข้างต้นต่างก็รู้จักจำเลยทั้งสองและไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนอันจะทำให้คิดเห็นไปได้ว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องได้รับโทษ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแล้วข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายประดิษฐ์ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลย ได้ร่วมกับพวกเป็นผู้ชักชวนให้นักศึกษาวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชทำการชุมนุมเพื่อโจมตีและขับไล่นายคล้าย จิตพิทักษ์ ให้ออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเนื่องจากไม่พอใจที่นายคล้ายในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ทำการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยให้เป็นที่สมใจของจำเลยกับพวกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทำการควบคุมราคาข้าวสารในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม จำเลยกับพวกก็เห็นว่าทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน โดยเริ่มมีการประชุมกันที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชตั้งแต่วันที่ 17 และ 20 มกราคม 2518 ในวันที่ 21 มกราคม 2518 จำเลยทั้งสองก็ไปร่วมชุมนุมและขึ้นไปพูดโจมตีขับไล่นายคล้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ณ ที่ชุมนุมที่บริเวณสนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุ และในตอนเย็นของวันเดียวกันนั้น จำเลยทั้งสองก็ได้ร่วมกับพวกจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยของผู้มาร่วมชุมนุมขึ้นและจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษาและประชาชนผู้มาชุมนุมให้มีหน้าที่รักษาความสงบและต่อต้านฝ่ายตรงข้ามโดยหน่วยฟันเฟืองนี้ต้องฟังคำสั่งของคณะกรรมการศูนย์รักษาความปลอดภัยที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 22 มกราคม 2518 นายประดิษฐ์จำเลยก็ได้แจ้งให้สิบตำรวจโทเจริญ พยานโจทก์ทราบว่าจะใช้วิธีการรุนแรง คือจะมีการปิดถนนเป็นขั้นที่ 1 ทำการยึดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นขั้นที่ 2 และจะทำการทำลายจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นขั้นต่อไป ซึ่งต่อมาในวันเดียวกันนั้นพวกหน่วยฟันเฟืองและผู้มาชุมนุมกันก็ทำการปิดถนน เข้าไปในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ขว้างปาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจนได้รับความเสียหาย และในที่สุดก็ได้วางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจนได้รับความเสียหายหมดทั้งหลัง การที่พวกหน่วยฟันเฟืองและพวกผู้มาชุมนุมทำการปิดถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะ ทำให้ราษฎรทั่วไปไม่อาจใช้ถนนดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปมาได้และทำการขว้างปาและวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจนได้รับความเสียหายไปทั้งหลังนั้นเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและข้อเท็จจริงจากการนำสืบดังกล่าวข้างต้น แม้จะรับฟังไม่ได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำการปิดถนนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยตรง แต่พยานหลักฐานของโจทก์ก็ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยทั้งสองได้เป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียนและประชาชนให้มาทำการชุมนุมกันณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้น และจำเลยทั้งสองนี้ยังมีส่วนร่วมในการขึ้นไปกล่าวโจมตีขับไล่นายคล้าย จิตพิทักษ์ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้น ตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้นจากบรรดานักศึกษานักเรียน และผู้มาร่วมชุมนุมดังกล่าวจนกระทั่งบุคคลประเภทต่าง ๆ เหล่านี้รวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคนก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเกิดความเสียหายขึ้นแก่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าวแล้ว กรณีถือได้ว่าการกระทำของนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญผลศิริ จำเลย ตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชาอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วยการกระทำของนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ และนายจงเจริญ ผลศิริ จำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำตามสิทธิของตนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญดังที่นายประดิษฐ์ทองคณารักษ์จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ที่จำเลยนำสืบว่านายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์ จำเลยได้ห้ามปรามนักศึกษาวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชมิให้ทำการประท้วงผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่นักศึกษาไม่เชื่อฟัง และฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมาเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนและชะลอความรุนแรงของประชาชนโดยไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นเลยก็ดีที่จำเลยนำสืบว่าการที่นายจงเจริญ ผลศิริ จำเลย ไป ณ ที่ชุมนุมประท้วงเป็นการไปดูแลนักศึกษาตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช โดยจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประท้วง และจำเลยมิได้ขึ้นไปพูดตำหนิติเตียนผู้ว่าราชการจังหวัด และฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดนั้น ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษนายประดิษฐ์ ทองคณารักษ์และนายจงเจริญผลศิริ จำเลยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share