คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็ครายพิพาทสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็ครายนี้ในขณะเกิดเหตุ และได้นำเช็ครายนี้ไปขึ้นเงินไม่ได้โดยธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น ดังนี้ โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องคดีเอาผิดแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันออกเช็คของธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาวงเวียนใหญ่ สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทให้แก่นางสาวสนธยามหิวรรณ ต่อมานางสาวสนธยาได้นำเช็คนั้นเข้าบัญชีของธนาคารออมสิน ๆได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงินที่ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาวงเวียนใหญ่ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นเพราะธนาคารได้ปิดบัญชีผู้สั่งจ่ายแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยออกเช็คดังกล่าวนั้นด้วยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยออกเช็ครายนี้ให้แก่นายไถง หาได้ออกให้แก่นางสาวสนธยาไม่ นางสาวสนธยาจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จะร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไม่ได้ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง โดยไม่วินิจฉัยประเด็นอื่น

อัยการโจทก์ และนางสาวสนธยาโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางสาวสนธยาโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็ครายพิพาทเป็นเช็คประเภทจ่ายให้แก่ผู้ถือ ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรง เช็ครายนี้ย่อมโอนไปยังบุคคลอื่นได้เพียงการส่งมอบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ว่าออกเช็คนี้ให้แก่นายไถงแม้จะเป็นจริงดังจำเลยอ้างก็ตาม เมื่อปรากฏความจริงว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็ครายนี้ในขณะเกิดเหตุ หากโจทก์ร่วมนำเช็ครายนี้ไปขึ้นเงินไม่ได้ดังฟ้อง โจทก์ร่วมก็ย่อมเป็นผู้เสียหาย จึงมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องคดีเอาผิดแก่จำเลยได้ พิพากษายืน

Share