คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่พิพาทเป็นของกรมชลประทานโจทก์จำเลยเช่าที่นี้จากโจทก์ปลูกสร้างอาคารต่อมาเมื่อ พ.ศ.2486 มีพระราชบัญญัติออกมาเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงที่พิพาทบางส่วนถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่เรือนโรงของจำเลยก็ยังคงปลูกอยู่ในที่พิพาทโดยสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยตลอดมาจนถึง พ.ศ.2495 แล้วโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเมื่อที่พิพาทยังอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ โจทก์บอกเลิกการเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ตลอดถึงที่พิพาทส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่กรมทางหลวงแผ่นดินแล้วนั้นด้วยเมื่อจำเลยรับว่าได้เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยเช่าจากโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว จำเลยก็ต้องส่งมอบที่พิพาทคืนให้โจทก์ จำเลยไม่มีทางจะโต้เถียงอำนาจของโจทก์ผู้ให้เช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกโรงเรือนในเขตชายคลองระพีพัฒน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาในเขตเทศบาล ตำบลตาเดี้ยง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี มาก่อน พ.ศ. 2495 โดยเช่าที่ปลูกจากโจทก์และสัญญาเช่าสิ้นอายุเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2496 โจทก์เลิกให้เช่าและบอกกล่าวให้รื้อถอนแล้ว จำเลยไม่รื้อ ขอให้บังคับให้รื้อโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างออกไป

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ในเขตนั้นที่ดินชานคลองดังกล่าวเป็นหน้าที่นายอำเภอท้องที่ดูแลรักษา จำเลยไม่เคยเช่าจากโจทก์ เรือนที่จำเลยอยู่นี้ปลูกอยู่ในที่ดินเขตทางหลวงสายถนนพหลโยธิน หากจะอยู่ในเขตชานคลองก็อยู่ในความดูแลรักษาของนายอำเภอ โจทก์ไม่มีอำนาจให้ผู้ใดเช่า ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คู่ความแถลงรับกันว่าที่พิพาทเดิมเป็นของกรมชลประทานโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโจทก์ปลูกอาคารเมื่อ พ.ศ. 2483 ใน พ.ศ. 2486 มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายเขตริมทางหลวงถนนประชาธิปัตย์ตอนดอนเมืองสระบุรี (คือถนนพหลโยธิน) พ.ศ. 2486 กินถึงที่ดินที่จำเลยปลูกอาคารล้ำเข้าไปในเขตของกรมทางหลวงแผ่นดิน 8.50 เมตร และตัวอาคารยังอยู่ในที่ดินของโจทก์อีก 2 เมตรเศษ จำเลยเช่าโจทก์มาจนถึง พ.ศ. 2495 จึงไม่ได้เช่าคงอยู่ต่อมาจนบัดนี้ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้รื้อจากโจทก์แล้วและจำเลยแถลงว่าที่ทำสัญญาเช่าจากโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ของโจทก์

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน ส่วนที่ขาดจากความดูแลของโจทก์และตกอยู่ในความครอบครองของกรมทางหลวงแผ่นดินแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารเฉพาะส่วนที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ประมาณ 2 เมตรนั้นเสีย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยรื้อเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาททั้งหมดตามฟ้อง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยรับว่าได้เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยเช่าจากโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่ากับจำเลยแล้วจำเลยก็ต้องส่งมอบที่พิพาทคืนให้โจทก์จำเลยไม่มีทางจะโต้เถียงอำนาจของโจทก์ผู้ให้เช่า แม้จะได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายทางหลวงประชาธิปัตย์ตอนดอนเมือง-สระบุรี ฯลฯพ.ศ. 2486 ออกประกาศใช้ เป็นเหตุให้ที่พิพาทบางส่วนอยู่ในเขตทางหลวงซึ่งถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ดี แต่เรือนโรงของจำเลยก็ยังคงปลูกอยู่ในที่พิพาทโดยสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยยังมีอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2495 โจทก์จึงบอกเลิกแสดงว่าโจทก์ยังสงวนสิทธิเหนือที่พิพาทยังเป็นที่ดินชานคลองระพีพัฒน์อยู่ความดูแลรักษาของโจทก์ตลอดมา เมื่อที่พิพาทยังอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ ๆ ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

พิพากษายืน

Share