แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 184, 291 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ และริบไม้กวาดทางมะพร้าวของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184, 83 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก และประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันกระทำการใด ๆ แก่สภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดี จำคุกคนละ 12 เดือน รวมจำคุกคนละ 18 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ริบไม้กวาดทางมะพร้าวของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่เด็กชาย ย. ผู้ตายขับและเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกันคือเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ทั้งต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน และเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 5,000 บาท โทษจำคุกเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นสมควรมีกำหนดคนละ 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7