คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ.2517มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรา6(1)ถึง(8)ตามสัญญาซื้อปุ๋ยจำเลยที่1ต้องชำระเงินค่าปุ๋ยให้โจทก์ในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ5ส่วนที่เหลือชำระภายใน12เดือนโดยโจทก์คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ0.65ต่อเดือนของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระเท่านั้นซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำโจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)เดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้องเพราะไม่ได้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระเพื่อหากำไรจึงนำอายุความ2ปีตามบทกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แก่โจทก์ไม่ได้ต้องใช้อายุความ10ปีตามมาตรา164เดิม ที่จำเลยที่7ที่8 ที่9ที่10และที่17ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่1ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่2ทำการซื้อปุ๋ยแทนหนังสือสัญญาซื้อปุ๋ยจึงไม่ผูกพันจำเลยที่1จำเลยที่7ที่8ที่9ที่10และที่17ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่1ต่อโจทก์นั้นจำเลยที่7ที่8ที่9ที่10และที่17มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าหนังสือสัญญาซื้อปุ๋ยไม่ผูกพันจำเลยที่1จำเลยที่7ที่8ที่9ที่10และที่17ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยที่1ซื้อปุ๋ยจากโจทก์เป็นเงิน920,260บาทชำระค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาแล้ว46,020บาทคงค้างชำระ874,240บาทโจทก์ได้คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ0.65ต่อเดือนของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระนับแต่เดือนกันยายน2523ถึงเดือนกันยายน2524เป็นเงิน73,873.28บาทรวมเป็นราคาปุ๋ยค้างชำระณเดือนกันยายน2524เป็นเงิน948,113.28บาทในเดือนกันยายน2524จำเลยที่1ได้ผ่อนชำระค่าปุ๋ยอีก5,000บาทจึงคงเหลือค่าปุ๋ยค้างชำระ943,113.28แม้ยอดค้างชำระดังกล่าวจะมีราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ0.65ต่อเดือนรวมอยู่ด้วยก็มิใช่ดอกเบี้ยฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าปุ๋ยค้าชำระ943,113.28บาทกรณีมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดในกรณีนี้มิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งซึ่งมีอายุความ5ปีตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา166เดิมแต่เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายตามมาตรา224วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์เป็นผู้อำนวยการทำการแทนโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการซื้อผลิตผลเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนของเกษตรกร เพื่อพยุงราคาหรือรักษาระดับราคาตามที่คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรกำหนด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิกและกรรมการอีก 1 คน ทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 เป็นรองประธานกรรมการ จำเลยที่4 เป็นเลขานุการ จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิก จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2523 จำเลยที่ 1แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2523 จำเลยที่ 2 ในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาซื้อปุ๋ยสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน195,800 กิโลกรัม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 920,260 บาท ไปจากโจทก์มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยตกลงว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ5 ของราคาปุ๋ยทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 12 เดือน พร้อมทั้งราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระจำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้โจทก์ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 51,020 บาท แล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.65ต่อเดือนในต้นเงิน 943,113.28 บาท นับตั้งแต่เดือนตุลาคม2524 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้คืนให้โจทก์ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปี 9 เดือน 21 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 606,328.97 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 1,549,442.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเก้าร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 1,549,442.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ในต้นเงิน 943,113.28บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
จำเลยที่ 3 และที่ 12 ให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 14 ที่ 18 และที่ 19 ให้การว่าโจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและฟ้องเรียกเกิน 5 ปีเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 และที่ 17 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การว่า ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี และฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 11และที่ 12 ร่วมกันชำระเงิน 1,549,442.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ในต้นเงิน 943,113.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 ชำระในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน จากต้นเงิน874,240 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 19 ร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน 874,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.65ต่อเดือนนับจากวันฟ้องถอยหลังลงไป 5 ปี และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 874,240 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ฎีกา โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรา 6(1) ถึง (8) ตามสัญญาซื้อปุ๋ยเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าปุ๋ยให้โจทก์ในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือชำระภายใน12 เดือน โดยโจทก์คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระเท่านั้นซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำโจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา165 (1) เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้อง เพราะไม่ได้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระเพื่อหากำไร จึงนำอายุความ2 ปี ตามกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แก่โจทก์ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164เดิม ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการซื้อปุ๋ยแทนหนังสือสัญญาซื้อปุ๋ยจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าหนังสือสัญญาซื้อปุ๋ยไม่ผูกพันจำเลยที่ 1จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า การคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 943,113.28 บาท ตามฟ้อง เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือไม่ ตามสัญญาซื้อปุ๋ยเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2ระบุว่า “ผู้ซื้อต้องส่งชำระเงินค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาปุ๋ยที่ซื้อทั้งหมดเป็นเงิน 46,020 บาท(สี่หมื่นหกพันยี่สิบบาทถ้วน) ส่วนที่เหลือจะส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสิบสองเดือน พร้อมทั้งราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน (เศษของเดือนถ้าเกิน 15 วัน คิดเป็นหนึ่งเดือน) ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระ” และข้อเท็จจริงฟังยุติตามฟ้องโจทก์โดยฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ซื้อปุ๋ยจากโจทก์เป็นเงิน 920,260 บาท ชำระค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาแล้ว 46,020 บาท คงค้างชำระ 847,240 บาท โจทก์ได้คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระนับแต่เดือนกันยายน 2523 ถึงเดือนกันยายน 2524เป็นเงิน 73,873.28 บาท รวมเป็นราคาปุ๋ยค้างชำระ ณ เดือนกันยายน 2524 เป็นเงิน 948,113.28 บาท ในเดือนกันยายน 2524จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าปุ๋ยอีก 5,000 บาท จึงคงเหลือค่าปุ๋ยค้างชำระ 943,113.28 บาท แม้ยอดค้างชำระดังกล่าวจะมีราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน รวมอยู่ด้วย ก็มิใช่ดอกเบี้ย ฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าปุ๋ยค้างชำระ 943,113.28 บาท กรณีมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยย้อนหลังเพียงใด เห็นว่า ดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดในกรณีนี้มิใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม แต่เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา224 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเนื่องจากการผิดนัดย้อนหลังเพียง 5 ปีจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 17ที่ 18 และที่ 19 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 943,113.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน นับแต่เดือนตุลาคม2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2533) ต้องไม่เกิน 606,328.97 บาทตามที่ขอมา

Share